Thai-PAN แจงกรมวิชาการเกษตรยอมรับ ต้นตอสารตกค้าง ระบุ “เกษตรกร-ผู้รับซื้อ” สวมสิทธิ์ – ใช้ทะเบียน Q-GMP หมดอายุ – สินค้าไม่ผ่าน GAP

590706 newthaipan
ไทยแพนเรียกร้องกรมวิชาการเกษตรแสดงความรับผิดชอบ และเร่งแก้ปัญหา หลังกรมฯพบสาเหตุการปนเปื้อนสารเคมีในผักตรา Q และออร์แกนิคไทยแลนด์

สืบเนื่องจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) ได้แถลงผลการเฝ้าระวังผักและผลไม้เมื่อวันที่ 4 เดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยพบว่าผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q พบสารเคมีตกค้างสูงถึง 57.1%  ในขณะที่ผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรพบสารเคมีเลยกลับพบ การตกค้างเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่าง และหลังการแถลงข่าว นายสมชาญ ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้บริหารของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจรับรอง (certify)ผักและผลไม้ที่ได้รับตรา Q และ Organic Thailand  กล่าวหาว่า การดำเนินการของไทยแพนเป็นอย่างไม่ถูกต้อง หวังรับเงินต่างชาติ และเตรียมฟ้องข้อหาหมิ่นประมาททำให้กรมวิชาการเกษตรเสียหาย นั้น
 
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้แถลงสดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ว่า กรมวิชาการเกษตรได้ยอมรับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่า พบปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังที่ไทยแพนแถลงจริง โดยสาเหตุที่ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างปนเปื้อนเกินมาตรฐานในผักและไม้ตรา Q และ Organic Thailand  นั้นพบว่าเกิดจาก 3 กรณี คือ
  1. ผู้ประกอบการใช้เครื่องหมาย Q-GMP หมดอายุ หรือเครื่องหมาย Q-GMP ไม่หมดอายุแต่ใช้ผักผลไม้ที่ไม่ผ่าน GAP
  2. ผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ใช้เครื่องหมาย Q-GAP นำผักผลไม้แหล่งอื่นมาสวมสิทธิ์ ใช้รหัส GMP ซึ่งใช้สำหรับโรงคัดบรรจุมาแทน GAP  และผลผลิตจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แต่พบสารตกค้างจริง
  3. ส่วนกรณีการตรวจพบสารตกค้างในผักผล ไม้อินทรีย์ Organic Thailand เกิดจากเกษตรกรและผู้ประกอบการ แอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ Organic Thailand ทั้งๆที่ไม่ผ่านการรับรอง มีการนำรหัสสินค้าเกษตรอินทรีย์ของพืชชนิดอื่นที่ได้รับการรับรองมาใช้ รวมไปถึงการเอาสินค้าอื่นมาสวมสิทธิ์แทน”
 
“ผลการตรวจสอบดังกล่าวได้เสนอต่อที่ประชุมเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างในผักผลไม้ของกระทรวงเกษตรฯ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2553 ณ ห้องประชุมพระพิรุณ 111 อาคาร 1 สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ” นางสาวปรกชล กล่าว
 
ด้านนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนผู้บริโภคจากโครงการกินเปลี่ยนโลก ได้เรียกร้องให้นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรแสดงความรับผิดชอบอย่างมีวุฒิภาวะในฐานะผู้บริหารหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและเป็นผู้ตรวจสอบออกใบรับรองมาตรฐานผักและผลไม้  “เราขอเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการยกเลิกใบรับรอง แจ้งความดำเนินคดีผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องหมายปลอม และสอบสวนหาต้นตอของผู้จำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชผิดกฎหมาย โดยเร็วดังผลการตรวจสอบดังกล่าว”
 
“กลุ่มผู้บริโภคจะร่วมมือกับไทยแพน ติดตามเฝ้าระวังปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีในผักและผลไม้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้เตรียมเอกสารเพื่อฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตรดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวอีกทางหนึ่งแล้ว” กิ่งกรกล่าว
ภาพในบรรทัด 2
ภาพในบรรทัด 3
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ปรกชล อู๋ทรัพย์ : เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) โทร 089 8955173
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา : กินเปลี่ยนโลก (Food4Change) โทร 081 5308339
 
 
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงได้ที่  http://www.thaipan.org/

พิมพ์ อีเมล