แฉ! ลดอ้วนให้ยาหลายเม็ด เพื่อแก้ปัญหายาเม็ดแรก แต่ไม่เกี่ยวกับน้ำหนัก

590703 news
เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการเสวนาวิชาการเรื่อง “ผอมผ่านเน็ต ภัยร้ายใกล้ตัว” ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานสร้างเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ประชาชนทั่วไปไม่รู้เลย คือ ยาลดน้ำหนักที่ขายทางอินเทอร์เน็ต หรือคลินิกที่ให้ซื้อยาได้เลย โดยไม่ได้ติดตามตรวจอะไรร่างกาย ไม่ว่าจะชีพจร ความดันนั้นไม่ได้เรียกว่ารักษาโรค คือ ยาลดความอ้วนทำให้ ๑.หัวใจวาย จะกระตุ้นการเต้นของหัวใจโดยออกฤทธิ์ทั้งวัน แม้ตอนนอนชีพจรจะช้าลง แต่หากกินยา อัตราการเต้นของหัวใจตอนนอนก็เท่าเดิมตลอดระยะเวลาที่กิน ในที่สุดก็จะหัวใจวาย

“๒.ทำให้หอบเหนื่อย เหมือนวิ่งอยู่ตลอดเวลา ๓.ซึมเศร้า เนื่องจากสารเคมีในสมองถูกใช้จนหมด ๔.ชัก เกิดจากการถูกกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ๕.ใจสั่น ใจเต้นเร็ว ๖.เสียเกลือแร่ ที่จำเป็นในร่างกาย คือ โซเดียม และโปแตสเซียม จากยาขับปัสสาวะ ซึ่งถ้ามีปริมาณเกลือแร่ต่ำจะทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรง ในที่สุดก็จะหมดสติ ๗.ประสาทหลอน ในยาจะมีสารบางอย่างเหมือนยาบ้า ๘.หงุดหงิด และ ๙.นอนไม่หลับ กดความอยากอาหาร” นพ.พิสนธิ์ กล่าว

ประธาน สยส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในยาลดความอ้วน ๑ ชุด จะมียาขับปัสสาวะ ยาระบาย ยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ยาไทรอยด์ ยาที่ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และยากล่อมประสาท คือ จะมียามากมายมหาศาล เพื่อแก้ปัญหายาเม็ดแรก ที่ให้ไป โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำหนักเลย ซึ่งยาลดความอ้วน อันตรายร้ายแรง เหมือนผลิตมาเพื่อฆ่าคน เขาจึงไม่ต้องการเห็นคนเสียชีวิตจากยาลดความอ้วนอีก

“การจะดูว่าอ้วนหรือผอมต้องดูค่า BMI คือค่าน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร คูณส่วนสูงเป็นเมตร ถ้าได้ค่า ๓๐ ขึ้นไป ถึงจะเรียกอ้วน อันจะทำให้เกิดปัญหา เช่น เจ็บเข่า หัวใจ และถ้าเราเป็นโรคอ้วนให้ไปโรงพยาบาล ที่มีคลินิกพิเศษเรื่องโรคอ้วน ซึ่งจะดูแลได้อย่างถูกต้อง ถ้าไม่อ้วน เราไม่เอาหรอกยาลดอ้วน เพราะยาลดความอ้วนอันตรายถึงตาย ดังนั้น อย่าซื้อยาลดความอ้วนทางอินเทอร์เน็ต อย่าซื้อยาชุดลดความอ้วน แต่ควรควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย อยากผอมเพรียวไม่ว่า แต่อย่าทำอย่างเดียวคือกินยาลดความอ้วน” ประธาน สยส. กล่าว

ด้าน นางวรรณา กองศรี มารดาของผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ยาลดความอ้วนทางอินเทอร์เน็ต เล่าว่า ลูกสาวของเขาขี้เกียจออกกำลังกายเลยแอบสั่งผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนมารับประทาน ซึ่งเขาเห็นตอนสินค้ามาส่งที่บ้านแล้ว โดยลูกบอกว่าเป็นอาหารเสริม หรือบางครั้งก็มีการเล่นเกมตอบคำถาม ถ้าตอบถูกก็จะได้กลูตาไธโอนเป็นรางวัลหนึ่งกล่อง ราคา ๒,๐๐๐ กว่าบาท ส่งมาให้ถึงบ้าน

“เราห้ามเขาไม่ได้ เขาแอบทำอยู่แล้ว แต่โชคดีที่ลูกยังไม่เป็นอะไร ซึ่งลูกก็ทานไม่หมดกล่อง เพราะยาไม่ช่วยอะไร มันไม่เห็นผล น้ำหนักเด้งกลับมาด้วยซ้ำ” นางวรรณากล่าวและว่า “ตอนนั้นตัวเองก็เคยกินยาลดความอ้วน เพราะก่อนนั้นอ้วนมาก จึงอยากให้น้ำหนักลงเร็วๆ ออกกำลังกายแล้วช้า พอกินยาแล้วรู้สึกไม่หิวข้าว หิวแต่น้ำ หงุดหงิด เหมือนความดันลด พอลุกเร็วก็จะหน้ามืด อาเจียน แขนขาอ่อนแรง จะหยิบโทรศัพท์โทรบอกญาติให้พาไปหาหมอยังทำไม่ได้ และมีผลกระทบต่อไต คือกรวยไตอักเสบบ่อยๆ”

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑.ยา และ ๒.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งหลายกรณีพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างว่าลดน้ำหนักได้ชะงัก ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับยาแตกต่างกัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคืออาหารตามกฎหมาย เพื่อค้ำจุนชีวิตเท่านั้น ไม่สามารถโฆษณาว่ารักษาการเจ็บป่วย หรือรักษาโรคได้

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ถ้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวไหนบอกว่าลดน้ำหนักได้ แสดงว่าใส่สารเคมีอันตราย และฝ่าฝืนโฆษณา ซึ่งผิดกฎหมายแน่ เพราะ อย.ไม่อนุญาต หากใครโฆษณาเช่นนี้ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุก ไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการโฆษณาที่อวดอ้างว่าผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาต มีเลข อย. แล้วนั้น คือ อย.อนุญาตให้กับตัวผลิตภัณฑ์ เวลาไปขึ้นทะเบียน ว่ามีสารนั้นสารนี้ ไม่ใช่อนุญาตการโฆษณา แต่ถ้าโฆษณาอาหารต้องอยู่ในขอบเขตของอาหารเท่านั้น

“ประชาชนต้องมีสติ ไม่ใช่ใครพูดอะไรก็เชื่อหมด เราห้ามคนทำผิดอาจยาก ดังนั้นต้องมีสติ ปัจจุบันจะต้องให้ประชาชนมีความรู้และปัญญาเป็นอาวุธ และมี อย.สมาร์ทแอพพลิเคชั่น สามารถร้องเรียนได้ผ่านมือถือ ด้วยการถ่ายรูปและส่งเรื่องร้องเรียนมาได้เลย หรือโทร ๑๕๕๖ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือหากอยู่ต่างจังหวัดก็แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ได้โดยตรง” รองเลขาธิการฯ อย.กล่าว

ผศ.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค อนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ กสทช. ให้ความเห็นว่า การค้นหายาลดความอ้วนในอินเทอร์เน็ตจะพบว่าขึ้นมากว่า ๕๐๐,๐๐๐ รายการ ภายใน ๐.๕๕ วินาที นอกจากนี้ แทบหาเลขโฆษณาในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้เลย มีแต่เลข อย. ซึ่งการเอาผิดน่าจะอยู่ภายใต้ความดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ICT)

ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์ อีเมล