ส่อง GMO เพื่อนบ้าน กับความท้าทาย เทคโนโลยีเกษตรอาเซียน อนาคตแรงงานเกษตรลด?

inv04231160p1 728x526
ปัจจุบันเกษตรกรรม คือความท้าทายความมั่นคงด้านอาหารนานาประเทศ เนื่องจากต้องปรับให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประเมินว่าในห้วงศตวรรษที่ 21 อาหารจะสามารถหล่อเลี้ยงประชากรโลก 9 พันล้านคนได้อย่างไร หากในอนาคตปี 2050 โลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ จึงนับเป็นเรื่องที่ตื่นตัวสำหรับภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เกษตรกร ต้องร่วมมือกันกำหนดทิศทาง

รายงงานข่าวจากประชาชาติธุรกิจแจ้งว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ครอฟไลฟ์ เอเชีย นำคณะสื่อมวลชนไทยเดินทางเวิร์กช็อปสัมมนาเกี่ยวกับบทบาทของ Plant Science ที่เข้ามาช่วยด้านการเกษตรและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นปัญหาการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกับสื่อมวลชนอาเซียน 50 คน พร้อมลงพื้นที่ศึกษาดูงานการวิจัยและพัฒนาข้าว สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute หรือ IRRI) ณ ประเทศฟิลิปปินส์

ส่อง GMO เพื่อนบ้าน

ปัจจุบันมีหลายประเทศอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ อาทิ อินเดีย จีน ปากีสถาน บังกลาเทศ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา บราซิล รวมถึงประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา ขณะที่บางประเทศยังไม่มีกฎหมายรองรับและยังเป็นเพียงการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในอนาคตเท่านั้น

ดร.โรโดร่า อัลเดอร์มิตา ผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอเทคโนโลยี สถาบัน International Service for the Acquisttion of Agri-Biotech Applications (ISAAA) ให้ข้อมูลว่า ฟิลิปปินส์ค่อนข้างเปิดกว้างและก้าวหน้าในการใช้จีเอ็มโอกว่า 16% พื้นที่ 5 ล้านไร่ ของการเกษตร และเริ่มพัฒนาเป็นการเกษตรเชิงพาณิชย์ เช่น ข้าวจีเอ็มโอสีทอง ข้าวโพด บีทีคอตตอนหรือฝ้าย และมะละกอ

เช่นเดียวกับเวียดนามได้ส่งเสริมทดลองปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอ 3.5 พันไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ คือหมูและสัตว์ปีกในอนาคต รวมถึงเมียนมา มีการปลูกบีทีคอต หรือฝ้ายในเชิงพาณิชย์ มีชื่อว่า Ngwe Chi 6 และ 9 มาแล้วกว่า 10 ปี บนพื้นที่ 1.8 ล้านไร่ และในอนาคตรัฐบาลจะออกกฎหมายรองรับเทคโนโลยีชีวภาพปลอดภัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้า

อนาคตแรงงานเกษตรลด

การสัมมนามีประเด็นเกี่ยวกับการพืชอารักขาของแต่ละประเทศ โดยมีการหยิบยกการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ได้พบว่าการทำเกษตรอินทรีย์อาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลกในปี ค.ศ. 2050 หากไม่ใช้สารอารักขาพืชแปลงเกษตรจะเสียหายจากการทำลายของศัตรูพืช ซึ่งเท่ากับว่าต้องใช้แรงงานคนในการกำจัดวัชพืชจำนวนมาก อนาคตจะเป็นเรื่องท้าทายแรงงานภาคเกษตรเป็นอย่างมากเพราะค่อนข้างขาดแคลน โดยเฉพาะสถานการณ์แรงงานอาเซียนอยู่ระหว่างช่วงของการเปลี่ยนผ่านคนรุ่นใหม่อาจไม่สนใจการทำเกษตรเหมือนในอดีต

ดร.พอล เต่ง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยนานาชาติ NIT, NTU สิงคโปร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลายประเทศมีกฎหมายรองรับการใช้สารเคมีเเตกต่างกันออกไป ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศได้กลับมาทบทวนปัญหาและกำลังวางกรอบที่ควรจะเป็นในอนาคต

“แต่มุมมองส่วนตัวนโยบายเกษตรของไทย ขณะนี้ได้ยกระดับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเป็นแกนกลางที่ชัดเจนสำหรับการใช้เทคโนโลยีให้เกษตรกรควบคู่ไปกับ food safety สิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งความปลอดภัยของเกษตรกรเองก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากอนาคตมีการจำกัดการใช้สารเคมี นั่นหมายความว่าอาจต้องพิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ปัจจัยผลิตอื่นมาทดแทนหรือไม่ และจะเลือกทางไหน หากอนาคตเกษตรกรต้องต่อสู้กับต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งแรงงานและปัจจัยการผลิต

IRRI ความมั่นคงอาหาร

นอกจากนี้ คณะสื่อมวลชนได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ International Rice Research Institute หรือ IRRI ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวจากทั่วโลก ก่อตั้งเมื่อปี 2503 เพื่อมุ่งเน้นขจัดความยากจนหิวโหยเพื่อความยั่งยืน และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

โดย IRRI เป็นศูนย์รวมของธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวโลกที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุกรรมข้าวกว่า 1.28 แสนเชื้อพันธุ์ และมีแปลงทดลองพันธุ์ข้าวที่ทนต่อทุกสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมีพื้นที่วิจัยพัฒนาพืชจีเอ็มโอข้าว ระบบปิด ห้องทดลองประเมินลักษณะทางกายภาพ สรีรวิทยาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วโลกต้องส่งมาปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ รสชาติ รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการสารอาหารและขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ข้าวของแต่ละประเทศ

ดร.บรู๊ซ เจ.โทเลนติโน รักษาการแทนผู้อำนวยการ IRRI ได้บรรยายภาพรวมถึงความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการเติบโตของประชากร และความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะสถานการณ์พื้นที่ ปริมาณข้าวในอาเซียน และการปรับเปลี่ยนเพาะปลูกของไทยที่หันมาลดพื้นที่และพัฒนาข้าวคุณภาพในฐานะผู้ส่งออกข้าวโลก อย่างไรก็ตามล่าสุด ไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศที่มุ่งเน้นพัฒนาข้าวยั่งยืน จากการลดการปล่อยกาซเรือนกระจกในการผลิตข้าว จากการรับรองของ IRRI อีกด้วย

ไทยกับนโยบาย GMO

ดร.ดุ๊ก ฮิปป ผู้อำนวยการสัมพันธ์องค์กรครอฟไลฟ์ เอเชีย ได้สรุปการสัมมนาว่า การเติบโตของพลเมืองที่มากขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงโรควัชพืชที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้ความมั่นใจว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรมีความจำเป็นที่เพียงพอและควบคู่ไปกับทรัพยากร

“ประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรมากมายที่จำเป็นต่อการพัฒนา โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ดังนั้น วิทยาศาสตร์ในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจะช่วยชาวนารับรู้ปัญหาเพื่อปรับตัวเผชิญหน้ากับความท้าทาย เช่น น้ำท่วม โรควัชพืช และภัยแล้งในทุก ๆ ปีรวมถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากจะสามารถช่วยเหลือชาวนาในการปลูกข้าวในสภาวการณ์ต่าง ๆ ได้ จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจะต้องมีองค์ความรู้และใช้อย่างถูกต้อง

สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นเสมือนแกนกลางของการเกษตรกรรมของไทย ซึ่งทั้งหมดใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร นับว่าเป็นโครงการที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเกษตรกรรมเป็นองค์ประกอบใหญ่ และสิ่งสำคัญก็คือ ชาวนาไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมได้ไม่ว่าจะเป็นแปลงใหญ่และการปรับตัวก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลไทยมีการสนับสนุน แต่เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลและเกษตรกรต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน” ดร.ดุ๊กกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมีการศึกษาทดลองเพื่อเตรียมความพร้อมกำกับดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพของพืชดัดแปลงทางพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถควบคุมการทดลองปลูกในแปลงได้ชัดเจน เพราะยังมีปัญหาเรื่องการหลุดรอดออกไปสู่ธรรมชาติ ทำให้ปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นประเด็นท้าทาย ในอนาคตหากจำเป็นต้องพึ่งพาพืชจีเอ็มโอ ควรวางกรอบทิศทางอย่างไรให้ชัดเจน ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0

 

ข้อมูลแระภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

พิมพ์ อีเมล