กรมวิทย์ฯแถลงพบ ยาปลุกเซ็กส์-ยาลดความอ้วน-ยานอนหลับ ผสมในกาแฟผงและอาหารเสริม

580520 helthนพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปี 2556-2559 กรมฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร จำนวน 6 กลุ่ม รวม 14 ชนิดตัวยา

ได้แก่ 1.กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คือ ซิลเดนาฟิล ทาดาลาฟิล และวาร์เดนาฟิล 2.กลุ่มยาลดความอ้วน คือ เอฟีดรีน ออลิสแตท เฟนเทอร์มีน และไซบูทรามีน 3.กลุ่มยาลดความอยากอาหาร เฟนฟลูรามีน 4.กลุ่มยาระบาย ฟีนอล์ฟทาลีน 5.กลุ่มยาสเตียรอยด์ คือ เดกซาเมธาโซน และเพรดนิโซโลน และ 6.กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ คือ อัลปราโซแลม ไดอะซีแพม และลอราซีแพม ในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยังคงตรวจพบการปนปลอมของยาแผนปัจจุบันเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาที่พบทั้งชนิดเดียวและพบร่วมกัน 2 ชนิด

นพ.สุขุม กล่าวว่า โดยผลการตรวจสอบพบว่า 1.กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง เจอกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 26.2 กลุ่มยาลดความอ้วน เจอร้อยละ 13.7 กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ พบร้อยละ 0.5 2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ พบทั้งแบบยาชนิดเดียวและสองชนิดรวมกัน รวมร้อยละ 42.9 กลุ่มยาลดความอ้วน ออลิสแตทร้อยละ 11.8 ไซบูทรามีน ร้อยละ 19.2 กลุ่มยาลดความอยากอาหาร ร้อยละ 0.4 กลุ่มยาระบาย ร้อยละ 0.4 กลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 1.9 พบยาแผนปัจจุบัน 2 กลุ่ม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไซบูทรามีนร่วมกับทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง และไซบูทรามีนร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน 2 ตัวอย่าง และยากลุ่มเดียวกัน 2 ชนิด ได้แก่ ไซบูทรามีนร่วมกับออลิสแตท 3 ตัวอย่าง 3.เครื่องดื่ม เช่น โกโก้ผง เครื่องดื่มผงผสมคอลลาเจน เครื่องดื่มคลอโรฟิลล์ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น จำนวน 66 ตัวอย่าง พบกลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 14.6 และ 4.อาหารอื่นๆ ได้แก่ ชาสมุนไพร ข้าวกล้องงอก และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น สารให้กลิ่นรส น้ำตาลมอลโตส สารโคคิวเท็น เป็นต้น จำนวน 41 ตัวอย่าง พบกลุ่มยาลดความอ้วน ร้อยละ 11.1

นพ.สุขุม กล่าวว่า อาหารที่มีการปนปลอม ยาแผนปัจจุบันจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้บริโภคสนใจจะใช้อาหารเสริมดังกล่าว จำเป็นต้องมีความรู้และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีคำรับรองจาก อย. และไม่หลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ,สำนักข่าวทีนิวส์

พิมพ์ อีเมล