ประชาคมโลกเรื่องการเข้าถึงยาเรียกร้องนายกฯ ไทย อย่าใช้ ม.44 เร่งออกสิทธิบัตรยา

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 2455

600310 ya
องค์กรภาคประสังคมเกือบ 40 องค์กรจากทั่วโลกร่วมลงนามในจดหมายถึงหัวหน้า คสช. เรียกร้องให้อย่าใช้ ม.44 ที่จะใช้ช่องทางพิเศษเร่งรัดพิจารณาและออกสิทธิบัตร เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิบัตรคั่งค้าง เพราะหวั่นการพิจารณาจะย่อหย่อนทำให้เกิดสิทธิบัตรยาด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นและทำให้ยาราคาแพงโดยไม่จำเป็น

หลังจากทราบข่าวการใช้ ม.44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงยา องค์กรพัฒนาเอกชนในหลายประเทศรู้สึกกังวล และรณรงค์รวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านการเร่งรัดออกสิทธิบัตรโดยอาศัยมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และประสานให้องค์กรพัฒนาเอกชนในไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทยในนามของกลุ่มการรณรงค์เพื่อยาราคาที่เป็นธรรม (Make Medicines Affordable) และองค์กรภาคีอื่นๆ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560

ประชาสังคมโลกที่ติดตามในเรื่องการเข้าถึงยาและทรัพย์สินทางปัญญาเห็นถึงความสำเร็จต่างๆ ในประเทศไทยที่น่าจะถือเป็นแบบอย่าง เช่น การใช้มาตราใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเมื่อปี 2549 และ 2550 เพื่อแก้ไขการเข้าถึงการรักษาเอดส์ โรคหัวใจ และมะเร็ง เพราะยาราคาแพง การมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ช่วยให้คนเข้าถึงบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และล่าสุด การมีคู่มือการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรยา ที่จะช่วยกลั่นกรองคำขอฯ ออกไปและลดปัญหาสิทธิบัตรยาด้อยคุณภาพที่ผูกขาดตลาดไม่ชอบธรรม

แต่ด้วยท่าทีที่เป็นข่าวในสื่อไปจนถึงต่างประเทศ องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ กังวลว่า ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนจุดยืนที่เป็นประเทศชั้นนำในเวทีโลกในเรื่องการสาธารณสุข และกำลังก้าวถอยหลัง ถ้ามีการใช้ ม.44 ให้เร่งพิจารณาสิทธิบัตร

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า “เราเชื่อว่าคำขอรับสิทธิบัตรยาจำนวนมากเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรคั่งค้างการพิจารณาจำนวนมาก การเร่งพิจารณาคำขอฯ ตาม ม.44 จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรยาด้อยคุณภาพเพิ่มมากขึ้นและเกิดการผูกขาดที่ยาวนานมากขึ้นโดยไม่จำเป็น”

งานศึกษาเรื่องสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นสุดอายุ (ever-greening patent) ที่เกี่ยวกับยาและผลกระทบในประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงปี 2543 – 2553 คำขอรับสิทธิบัตรยามากกว่าร้อยละ 80 เป็นคำขอฯ แบบด้อยคุณภาพ และสิทธิบัตรที่อนุมัตไปกว่าร้อยละ 70 เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร ที่จริงแล้ว ถ้าประเทศไทยไม่ออกสิทธิบัตรให้กับยาที่ไม่สมควรได้สิทธิบัตรเหล่านั้น ประเทศไทยจะประหยัดงบประมาณได้ถึง 8,000 ล้านบาท

ตามข้อมูลขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ประเทศไทยอนุมัติให้สิทธิบัตรในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับที่ให้ในประเทศอินเดียและประเทศบราซิล ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ในปี 2557 ประเทศไทยมีคำขอรับสิทธิบัตรจำนวน 7,390 ฉบับ และมีการออกสิทธิบัตรไปจำนวน 1,286 ฉบับ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 16% เมื่อเทียบกับประเทศอินเดียและประเทศบราซิลที่มีการให้สิทธิบัตรในปี 2558 ในอัตราร้อยละ 13 และ 11 ตามลำดับ

นายอ็อโตมัน เมลลุค หัวหน้าฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา องค์กร International Treatment Preparedness Coalition (ITPC) ซึ่งเป็นแกนนำในการรณรงค์รวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านการเร่งออกสิทธิบัตรผ่าน ม.44 กล่าวว่า “อัตราการให้สิทธิบัตรของประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศชั้นนำที่ปกป้องสาธารณสุข แต่จากงานวิจัยเรื่องสิทธบัตรแบบ ever-greening ในประเทศไทย จะเห็นว่า ระบบสิทธิบัตรของไทยจำเป็นต้องรัดกุมมากกว่านี้ เพื่อประโยชน์ในเรื่องการประหยัดงบประมาณและการสาธารณสุขของประเทศ

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมประชาคมโลกจึงเรียกร้องให้นายกฯ ของไทยอย่าใช้ ม.44 เร่งพิจารณาสิทธิบัตรและรักษาจุดยืนในเรื่องส่งเสริมการเข้าถึงยาและบริการสาธารณสุขที่ทำมาในอดีต ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เท่ากับว่าประเทศไทยกำลังก้าวถอยหลังและทำลายความสำเร็จในเรื่องสาธารณสุขที่มีมาในอดีต”

ข้อมูลเพิ่มเติม
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
081 612 9551

พิมพ์