จี้พาณิชย์และสาธารณสุข ทำตามรายงานการเข้าถึงยาของผู้ทรงฯ ยูเอ็น หยุดผูกขาดตลาดยา

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 2904

591013 health medicine 1
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และกลุ่มFTA Watch ยื่นข้อเรียกร้องต่อ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงแห่งองค์การสหประชาชาติ หยุดผูกขาดตลาดยาและทำให้ยามีราคาแพง

ภายหลังการยื่นหนังสือ11 ตุลาคม 2559 ของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ส่งจดหมายถึงกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรียกร้องให้นำข้อเสนอแนะของคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงยามาปฏิบัติ เนื่องจากประชาชนในหลายประเทศมีอุปสรรคในเรื่องการเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็น เพราะกฎหมายสิทธิบัตรและการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีหลายฉบับ ที่ผูกขาดตลาดยาและทำให้ยามีราคาแพง

ความกังวลและข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมในจดหมายสอดคล้องกับข้อเสนอแนะหลายข้อในรายงาน “การเข้าถึงยาและการส่งเสริมนวัตกรรมและการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพ” ที่จัดทำขึ้นโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงที่แต่งตั้งโดยนายบัน คิมูน เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ และได้เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปเป็นอุปสรรค และทำให้คนเข้าไม่ถึงยารักษาโรคที่จำเป็นในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย

“ข้อแนะนำหลายข้อในรายงานฉบับนี้สอดคล้องกับข้อเรียกร้อง ที่ภาคประชาสังคมได้เรียกร้องกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการรับจดสิทธิบัตรยาที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการผูกขาดโดยไม่จำเป็น และการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่มีเงื่อนไขเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เอาเปรียบและก่อให้เกิดปัญหาการเข้าถึงยา

ในรายงานฉบับนี้ ยังสนับสนุนให้ทุกรัฐบาลนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือ CL มาใช้ โดยแนะนำให้แก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้นำมาใช้ได้สะดวกมากขึ้น และให้ประเทศรายงานต่อองค์การการค้าโลก ถ้าประเทศใดถูกกดดันไม่ให้นำมาตรการนี้มาใช้ รวมไปถึงให้ทุกประเทศไม่นำเงื่อนไขทริปส์ผนวกมาเจรจา และทุกประเทศต้องทำการประเมินผลกระทบของข้อตกลงต่อระบบสุขภาพและการเข้าถึงยาก่อนลงนามในข้อตกลง”นายนิมิตร์กล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณงรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า “สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมเจรจาข้อตกลง RCEP หรือ FTA ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนกับอีก 6 ประเทศที่ประเทศจีน แม้ว่าเนื้อหาการเจรจาที่ผ่านมาทั้งหมด 14 ครั้งจะเป็นความลับ แต่มีข้อมูลรั่วไหลออกมาและทำให้ทราบว่า เกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีข้อเสนอในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดกว่าขององค์การการค้าโลกหรือทริปส์ผนวก ซึ่งจะส่งผลให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร ลดโอกาสการแข่งขันของยาชื่อสามัญ และทำให้ยามีราคาแพง

ข้อเรียกร้องในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุนใน RCEP ไม่แตกต่างจากข้อเรียกร้องในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเซีย-แปซิคฟิกหรือ TPP ที่หลายภาคส่วนกำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และกำลังเป็นประเด็นการเมืองในสหรัฐฯ เพราะจะมีผลต่อการเข้าถึงยาของคนทั่วโลก” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว

นางสาวนิยดา เกียรติ์ยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์พัฒนาและติดตามระบบยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขอสนับสนุนข้อเสนอในรายงานฉบับนี้ ที่ทุกประเทศจะต้องกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายยาต้องแจ้งโครงสร้างราคายาและสถานะสิทธิบัตรแก่หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องยาของรัฐ ในการยื่นขอใบอนุญาตจำหน่ายยา ทั้งนี้ เพราะบริษัทยาข้ามชาติมักอ้างว่าการวิจัยและพัฒนายาวมีต้นทุนสูง แต่ไม่เคยเปิดเผยข้อมูล แต่เป็นที่ทราบกันว่าบริษัทฯ ใช้งบฯ ส่งเสริมการขายสูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยฯ มาก

“การแจ้งสถานะสิทธิบัตรจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐด้านสุขภาพทราบข้อมูลได้ง่ายขึ้น และเตรียมการนำเข้าหรือผลิตยาชื่อสามัญสำหรับยารักษาโรคที่จำเป็นได้ทันทีเมื่อหมดสิทธิบัตร” ผู้จัดการศูนย์พัฒนาและติดตามระบบยากล่าว

อนึ่งทั้งก่อนและระหว่างเจรจาข้อตกลง RCEP ที่ประเทศจีน ภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมในประเทศต่างๆ จะมีกิจกรรมรณรงค์คัดค้านเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก และในประเทศไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จะจัดให้มีการเสวนาเกี่ยวกับผลกระทบของข้อตกลง RCEP พร้อมกับการแถลงข่าวขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2559 เวลา 09:00 – 12:00 น. ที่โรงแรมเอเซีย (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าราชเทวี) กรุงเทพฯ

ข้อตกลง RCEP คือ การเจรจาการค้าระดับภูมิภาคระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกับอีก 6 ประเทศ ซึ่งได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่เริ่มเจรจามาครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ที่บรูไน และจะมีการเจรจาครั้งที่ 15 ที่จีนในระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2559 ซึ่งมีความพยายามที่จะเจรจาให้สำเร็จให้ได้ภายในปี 2559

 

ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต

พิมพ์