เครือข่ายผู้บริโภคจับมือเครือข่ายผู้ป่วย เตือนสติ รัฐมนตรี แก้ กม.ให้ไทยเข้าถึงยาก่อนเอาใจสหรัฐฯ

เครือข่ายผู้บริโภคจับมือเครือข่ายผู้ป่วย เตือนสติ รัฐมนตรี ‘ลูกยอด’ ก่อนแก้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเอาใจสหรัฐฯ ต้องแก้กฎหมายเพื่อการเข้าถึงความรู้ และเพื่อการเข้าถึงยาของคนไทยเสียก่อน

 

จาก การที่ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ กำลังเร่งผลักดันการยกร่างและแก้กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเร่งด่วน จำนวน 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับการบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์, พรบ.ลิขสิทธิ์ และ กฎหมายเอาผิดกับผู้ให้เช่าสถานที่ เจ้าของอาคาร และเจ้าของศูนย์การค้า ที่ให้ผู้เช่าสถานที่นำพื้นที่เช่าไปค้าขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL)

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับท่าทีที่รุกลี้รุกลนในการเอาใจสหรัฐฯเพื่อให้ปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) โดยไม่ศึกษาข้อมูลเลยว่า รัฐบาลที่ผ่านมา นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้เสียค่าโง่ไปไม่น้อยกับการเอาใจสหรัฐฯ แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ซึ่งการแก้ไขกฎหมายต่างๆควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนในชาติมากกว่า

 

ประเทศไทยติดในบัญชี PWL มา 5 ปี แต่มีงานศึกษาชี้ชัดว่า ไม่ส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจเลย ขณะที่งานวิจัยของเครือข่ายการเข้าถึงความรู้ (A2K Network) ที่ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ. 2553 ซึ่งมูลนิธิฯร่วมวิจัยด้วยพบว่า เนื้อหาของกฎหมายลิขสิทธิ์ใน 34 ประเทศทั่วโลก พบว่า หลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทยไม่เคยใช้ประโยชน์จาก พรบ.ลิขสิทธิ์อย่างเต็มที่ในการทำให้นักเรียน นักศึกษา หรือเยาวชนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูล ความรู้ซึ่งมีอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ทั้งหลายเลย ขณะที่ในกรณีของประเทศไทยแย่กว่า ได้แค่เกรด C เมื่อ ดูกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถรักษาสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของ ลิขสิทธิ์และการเข้าถึงข้อมูลความรู้โดยผู้บริโภคได้ดีที่สุด พูดง่ายๆคือ รั้งอันดับที่ 30 (อันดับที่ 5 จากท้าย) ในขณะที่เพื่อนบ้านของเรา ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ได้อันดับ 5 13 19 และ 20 ตามลำดับ หากจะมีการแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วน ควรแก้เพื่อสร้างความสมดุลเรื่องนี้ด้วยไม่ใช่เพื่อเอาใจสหรัฐอย่างเดียวฯ

 

ทางด้านนายอนันต์ เมืองมูลไชย สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และรองประธานมูลนิธิเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้ป่วยและภาคประชาสังคมพยายามหารือกับกรมทรัพย์สินทาง ปัญญามาโดยตลอดให้เร่งแก้ปัญหาคำขอรับสิทธิบัตรในลักษณะไม่มีที่สิ้นสุด (evergreening) ที่มีมากถึงร้อยละ 96 ของคำขอรับสิทธิบัตรในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งหากไม่มีกลไกพิจารณาที่ดีและรัดกุมพอ ประเทศไทยจะเผชิญกับการผูกขาดของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่หนักหน่วงที่สุด

 

“เราพยายามขอให้ทางกรมฯรับคู่มือที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นไปปฏิบัติเพื่อป้องกันสิทธิบัตรที่ไม่มีที่สิ้นสุด, ในการแก้ พรบ.จะต้องขยายเวลาการคัดค้านไปเป็น 1 ปีจาก 90 วันแทนกฎหมายเดิม, ต้องมีตัวแทน อย. หรือ สปสช.เข้าไปอยู่ในคณะอนุกรรมการเคมี ในคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อช่วยพิจารณาการให้สิทธิบัตร, ต้องไม่นำคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเป็นคณะกรรมการสิทธิบัตร และที่สำคัญคือ การพัฒนาฐานข้อมูลสิทธิบัตรเพื่อให้สามารถสืบค้นได้ง่าย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับใดๆเลย กลับมาเจอข่าวว่ารัฐมนตรีช่วยจะแก้กฎหมายเพื่อเอาใจสหรัฐฯ แต่ไม่ยอมเร่งแก้กฎหมาย-กฎระเบียบและกลไกต่างๆเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาให้กับประชาชน ซึ่งรับไม่ได้มากๆ”

 

ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้มีงานวิชาการยืนยันชัดเจนถึงปัญหาของสิทธิบัตรที่ไม่มีที่สิ้นสุด กรมทรัพย์สินฯต้องตอบให้ได้ว่า คู่มือที่กำลังจะประกาศใช้จะแก้ปัญหา evergreening เช่นนี้อย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหนโดยเฉพาะคำขอเรื่องการใช้และข้อบ่งใช้ที่ 2, สูตรตำรับและส่วนประกอบ, ตำรับยาสูตรผสม และขนาด/ปริมาณการใช้ หากทางกรมฯให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ หรือยังยืนยันจะปล่อยให้เป็นวินิจฉัยของผู้ตรวจสอบเช่นที่ผ่านมา เราคงต้องขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นการเร่งด่วน”

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยสิทธิบัตรยาที่จัดเป็นสิทธิบัตรไม่มีที่สิ้นสุด ในประเทศไทยและการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น คณะผู้วิจัยได้ทำการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ทางยา ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2543-2553 จำนวน 2,034 ฉบับ พบว่า มีคำขอรับสิทธิบัตร ร้อยละ 96 ที่มีลักษณะอยู่ในเงื่อนไขที่เป็น evergreening patent โดยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือ คำขอรับสิทธิบัตร "ข้อบ่งใช้/การใช้" ร้อยละ 73.7 สูตรตำรับและส่วนประกอบ ร้อยละ 36.4 และ Markush Claim ร้อยละ 34.7 ซึ่ง ทางสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อนำ เสนอผลการวิจัยในฐานะที่เป็นองค์กรร่วมสนับสนุนการวิจัย และมีข้อเสนอแนะให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรจะพิจารณาคู่มือที่คณะผู้วิจัย พัฒนาขึ้นนำไปใช้ในการปรับปรุงระบบการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งกรมฯกำลัง ดำเนินการพัฒนาระบบอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการพัฒนาแก้ไข พรบ.สิทธิบัตรให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

พิมพ์ อีเมล