"วิทยา"ขู่พรีม่ารับผิดชอบบัญชีดำซีแอล

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 5033

"วิทยา" ขู่พรีม่า หากไทยถูกขึ้นบัญชีดำ "ถูกจับตามองสูงสุด" ต้องรับผิดชอบ
เหตุไม่เคยประกาศเดินหน้าซีแอล เตรียมถกพาณิชย์ขอดูผลกระทบตัวเลขส่งออกหลังร่อนจดหมายหนังสือขอ สธ.ไม่ทำซีแอล

จากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือถึงกระทรวง สาธารณสุข ขอไม่ให้มีการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาเพิ่ม (ซีแอล) เพื่อนำไปเป็นชี้แจงต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) พิจารณาถอดไทยออกจากบัญชีกลุ่ม ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ หรือ (PWL) ที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงว่า การทำซีแอลขึ้นอยู่กับภาวะสถานการณ์ความจำเป็นของประเทศ และเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณา ว่า ไทยควรทำซีแอลหรือไม่ และเมื่อเห็นว่าควรทำ จะมีกระบวนการบังคับใช้สิทธิอยู่ การต่อรองราคายากับบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร หากต่อรองราคาเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาไม่ได้ จึงจำเป็นต้องประกาศซีแอล ซึ่งจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ

นายวิทยา กล่าวว่า การทำซีแอลยาตนมองว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตอบโต้ของประเทศที่ยากจน และเป็นแก้วิกฤติปัญหาด้านยา ซึ่งขณะนี้ บริษัทยาเกิดความกังวลมากเกินไป ถึงขั้นเรียกร้องไปยังยูเอสทีอาร์เพื่อปรับให้ไทยอยู่ในประเทศที่ถูกจับตา มองสูงสุด (พีเอฟซี) นั้น แทนที่จะเสนอปลดไทยออกจากประเทศจับตามอง คงเห็นว่าการละเมิดลิขสิทธิ์อื่นๆ ทั้งเทป ซีดี ดีวีดี ภาพยนตร์ ไทยได้มีการปราบปรามโดยใช้มาตรการอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงอยากฝากบอกไปยังบริษัทยาว่า อย่ากังวลมากนัก วันนี้ยังไม่มีข้อเสนอใดๆ ในการทำซีแอลเพิ่มเติม

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อวานนี้ที่ทางสมาคมผู้ผลิตและวิจัยยาแห่งสหรัฐอเมริกา (พรีม่า) เข้าพบ ได้มีการหารือในประเด็นใดบ้าง นายวิทยา กล่าวว่า มาสอบถามท่าทีต่อนโยบายซีแอล ซึ่งได้ตอบไปตรงๆ ว่า กระทรวงยังไม่มีนโยบายการทำซีแอลในขณะนี้

นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ขอให้กระทรวงสาธารณสุขไม่ทำซีแอลเพิ่มนั้น ถือเป็นบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ เพราะมีหน้าที่ดูแลการค้าการส่งออก จึงเห็นว่าหากไทยถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ถูกจับตามองสูงสุดตามที่พรีม่า เสนอจริง การส่งออกจะทำได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนจะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอดูตัวเลขค้าขายกับสหรัฐ หากเกิดผลกระทบจริงๆ คงต้องหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะไม่มีใครที่จะได้ฝ่ายเดียว แต่ต้องดูภาพรวมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดด้วย

นายวิทยา กล่าวว่า "หากไทยถูกขึ้นเป็นบัญชีพีเอฟซีจริง สมาคมยาต้องรับผิดชอบด้วย เพราะว่าที่มาพบผม ผมบอกแล้วว่า ยังไม่มีการท้าทายใดๆ ในการทำซีแอล ดังนั้น อย่าทำอะไรที่กระทบกระเทือนสิทธิประโยชน์ของประเทศ"

ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ท่าทีของกระทรวงพาณิชย์เช่นนี้เท่ากับให้ไทยยกเลิกอธิปไตยของตัวเอง ที่แย่ที่สุดคือ การประกาศไม่ทำซีแอลจะทำให้ไทยไม่สามารถต่อรองราคายาได้เลย ทั้งที่ผ่านมา บริษัทยาจำนวนมากยอมเข้ามาเจรจาต่อรองลดราคายา

"ขณะนี้ เครือข่ายที่ทำงานด้านการเข้าถึงยากำลังติดต่อขอพบนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือถึงประเด็นดังกล่าวในสัปดาห์หน้า ก่อนที่นายอลงกรณ์จะเดินทางไปสหรัฐในกลางเดือนนี้ เพราะท่าทีเช่นนี้แย่มาก เอาชีวิตประชาชนทั้งประเทศไปแลกกับสิ่งที่เป็นภาพลวงตาที่บริษัทยาข้ามชาติ สร้างขึ้นมาหลอกลวง"

กรุงเทพธุรกิจ 4/3/52

พิมพ์