เลขาฯอังค์ถัดหนุนเอเชียผลิตยา แนะใช้ความยืดหยุ่น TRIPs เสริม


การประกาศบังคับสิทธิในยาที่มีสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) หรือซีแอล จำนวน 7 รายการ

เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ 2 รายการ ยาสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ 1 รายการ และยารักษาโรคมะเร็ง 4 รายการ ได้แก่ เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) โลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์ (Lopinavir+Ritonavir) โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) อิมมาทินิบ (Imatinib) โดซีแท็กเซล (Docetaxel) เออร์โลทินิบ (Erlotinib) และเลตโทรโซล (Letrozole) โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยในระหว่างเดือน พ.ย.2549-ม.ค.2551

เป็นตัวอย่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งในโลกที่ต้องการแก้ปัญหาการเข้าถึงยารักษาโรคที่มีสิทธิบัตรและราคาแพง เพื่อให้ประชาชนผู้เจ็บป่วยได้เข้าถึงยาอย่างเพียงพอและรวดเร็วกับอาการของโรค

เป็นตัวอย่างที่มีทั้งจุดบกพร่องที่ต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขและข้อดีที่หลายประเทศต้องหันมามอง เข้ามาเรียนรู้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขภายในประเทศ และเนื่องจากการประกาศใช้ซีแอลไม่ได้มีผลโดยตรงต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของผู้คนเท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อการคิดค้นประดิษฐ์ยาใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด จึงทำให้การประกาศใช้ซีแอลต้องทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง มีขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้การใช้ซีแอลถูกนำไปเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้เมื่อปลายเดือน ธ.ค.2551 ที่ผ่านมา ที่ประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) จึงได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ Symposium on Flexibilities in the International Intellectual Property Rules and the Local Production of Medicines for ASEAN Countries โดยมีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องในระบบสาธารณสุขจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมกับเจ้าหน้าที่จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ฝ่ายไทย และเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายและ ผู้เชี่ยวชาญจากอังค์ถัด เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการอังค์ถัดกล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากไทยนำข้อยืดหยุ่นในทริปส์กรณีของซีแอลมาใช้ ก็ทำให้ประเทศผู้ผลิตยาบางรายไม่พอใจและก็เกิดปัญหากับไทย แต่ก็ไม่เป็นไรเรื่องอย่างนี้เราต้องใช้ไปเรื่อยๆ แต่ต้องอยู่ในกรอบกติกา คือ ก่อนบังคับใช้สิทธิต้องมีการเจรจาก่อนว่าจะขอให้ลดราคาได้หรือไม่ ถ้าเจรจาแล้วไม่ลดราคาให้ก็ต้องเจรจา ขอใช้เป็นยาชื่อสามัญแทนยาที่มีสิทธิบัตร ได้หรือไม่ หรือให้ประเทศเราผลิตเองได้หรือไม่ แล้วต่อมาก็เจรจาเรื่อง ค่าไลเซนส์กัน

"เรื่องพวกนี้ถ้าเราข้ามขั้นตอนอาจจะมีปัญหา แต่ส่วนใหญ่ก็นับว่าดี เนื่องจาก ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องแอ็กทีฟ เพราะยารักษาโรคทุกวันนี้มีราคาแพงเหลือเกิน ยารุ่นใหม่ๆ ยาดีๆ ถ้าเราไม่มีการคุ้มครองที่ดี เราก็จะไม่ได้ใช้ ทำนองเดียวกัน นอกจากการคุ้มครองที่ดีแล้ว เป้าหมายสูงสุดก็คือเรื่องสุขภาพ ของเรา นโยบายของเราต้องให้ความสำคัญ กับเรื่องสุขภาพเป็นหลักก่อน"

อีกทั้งในฐานะที่อาเซียนมีศักยภาพมากในการผลิตยา และในอนาคตการผลิตยาของบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปน่าจะย้ายเข้ามาตั้งโรงงานในภูมิภาคนี้มากขึ้น อาเซียนเองก็มีศักยภาพจะทำได้ เพราะอาเซียนมีความรู้ทางวิทยศาสตร์ พื้นฐานที่ดีพอสมควร มีความรู้ด้าน ยาสมุนไพร มีตำรับยาดั่งเดิมต่างๆ จึงยิ่งทำให้มั่นใจว่าระบบการผลิตยาในภูมิภาคนี้และโดยเฉพาะของประเทศไทย ไม่แพ้ใครในโลก

"ระบบสาธารณสุขของไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็นำไปใช้เป็นตัวอย่างอยู่ตลอด เช่น การแก้ปัญหาโรคเอดส์ จำนวนผู้ป่วยในไทยลดลงเรื่อยๆ เพราะนโยบายสาธารณสุขของไทยเปิดกว้างไม่เคยปิดบัง คือเมื่อรู้ว่าใครเป็นเราก็รักษา ไม่เหมือนบ้างประเทศ ที่ปิดตัวเลข จะแก้ไขอะไรก็สายไปแล้ว"

อย่างไรก็ตาม ในยุคเศรษฐกิจโลก ชะลอตัว หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรปเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งทั่วไปแล้วอุตสาหกรรมยามักจะไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเรียกกันว่าเป็น "recession free" เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำอย่างไร คนเจ็บป่วยก็ต้องใช้ยา แต่ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ จึงทำให้ปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป

ในเรื่องนี้เลขาธิการอังค์ถัด ในฐานะหัวหน้าทีมองค์กรดูแลเรื่องการค้าเพื่อ การพัฒนาและเป็นผู้มีประสบการณ์ในเวทีองค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วงการเจรจาการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์) ได้กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยาของโลกหลังยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ว่า วิกฤตในสหรัฐอเมริกาและยุโรปครั้งนี้กำลังจะเป็นประโยชน์กับเอเชีย เนื่องจากอุตสาหกรรมยาในประเทศเหล่านี้เริ่มประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ในสหรัฐก็มีการใช้ น้อยลง ประกอบกับแผนใหม่ของพรรคเดโมแครตซึ่งจะเข้ามาบริหารประเทศหลังวันที่ 20 ม.ค.นี้ บารัก โอบามา ก็อยากจะทำในเรื่องที่รัฐบาลเป็นคนดูแล โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขคล้ายกับที่ ฮิลลารี คลินตัน เคยทำมาก่อน โดยโอบามาจะนำมาปัดฝุ่นอีกครั้งผ่านการจัดตั้งเป็นศูนย์ดูแลสุขภาพ เพราะเขาต้องการให้ยามีราคา ถูกลง เพราะตอนนี้คนอเมริกันเองก็บ่นว่ายาแพงด้วยเช่นกัน

แผนของเดโมแครตในเรื่องนี้ ประกอบด้วย 1) การให้บริษัทผลิตยาชื่อสามัญเพิ่มขึ้น และ 2) การย้ายโรงงานผลิตยาไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น ซึ่งข้อหลังนี้เอเชียเป็นเป้าหมายหลัก สิ่งนี้จึงเป็นโอกาสของคนในภูมิภาคนี้ และการจัดสัมมนาของอังค์ถัดร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาครั้งล่าสุดก็เพื่อแนะนำการใช้ไอทีและสร้างความเข้าใจในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตท้องถิ่นได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในเวลานี้

ในอีกแง่หนึ่งก็จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะเรื่องการค้าสินค้า ซึ่งในที่นี่คือการผลิตยา จำหน่ายยาเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ในเรื่องการค้าบริการผ่านระบบโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันไทยก็มีศักยภาพและได้รับการรับรองคุณภาพในระดับโลกด้วยเช่นกัน

ประชาชาติธุรกิจ 12 ม.ค. 2552

พิมพ์ อีเมล