ข่าวเด่น"สาธารณสุข"ปี51

เก็บข้อมูลจาก นสพ.คมชัดลึก ซึ่งรวบรวมสถานการณ์ของสาธารณสุขปี 2551 มาให้อ่านกัน

นพ. มงคล ณ สงขลา 2 เดือน ,นายไชยา สะสมทรัพย์ 5 เดือน ,นาย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล 1 เดือน และนายเฉลิม อยู่บำรุงราว 2 เดือน บวกกับนายวิชาญ มีนชัยนันท์ 6 เดือน ที่เข้ามานั่งกุมบังเหียนกระทรวงหมอตลอดปี 2551 ซึ่งแม้จะจัดเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ใช้รัฐมนตรีเข้ามาบริหารงานในรอบปีเปลืองที่สุดกระทรวงหนึ่ง แต่การขับเคลื่อน งาน เหมือนจะค่อยๆขยับไปเรื่อยๆอย่างเนิบๆไม่ รวดเร็ว เหมือนการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี “คม ชัด ลึก” ขอฉายภาพงานไหน เด่น งานไหนด้อย

1.“เมลามีน” ภัยร้ายในนม



หลังรัฐบาลจีนประกาศตรวจพบนมผงสำหรับทารกมีการปนเปื้อนสารเมลามีน ที่มักใช้ในการผลิตจาน ชาม จนเป็นเหตุให้เด็กทารกจีนเสียชีวิต จากภาวะไตวาย 6 ราย และกว่า 3 แสนคนเจ็บป่วย สร้างความตื่นตัวต่อปัญหานี้ไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ไทย ซึ่งมีการนำเข้านมจากประเทศจีนปีละจำนวนไม่น้อย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยอมรับว่าเป็น เรื่องใหม่ ที่อย.ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ต้องถือว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างทันการ และถึงในต่างประเทศจะมีการตรวจพบสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์อื่นตามมาอีกเพียบ เช่นไข่ ขนมขบเคี้ยว ช็อกโกแล็ต และอาหารสัตว์ อย.ก็ออกเตือนประชาชนชนิดไม่ตกกระแส

โดยอย.ตรวจวัตถุดิบนมผงที่นำเข้าจากจีนทุกล็อตการผลิต และเก็บตัวอย่างสินค้าในตลาด ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบ กว่า 1,547 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนเมลามีน 15 ตัวอย่าง มีค่าเมลามีนเกินมาตรฐาน 8 รายการ โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. มีการเผาทำลายผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนเมลามีน น้ำหนักรวมเกือบ 8 ตัน เป็นผลิตภัณฑ์ขนม 19,824 กล่อง ผลิตภัณฑ์นม 13,085 กระป๋อง ไม่รวมวัตถุดิบนมผงของดัชมิลล์จำนวน 120 ตัน ที่ถูกอายัดและส่งกลับคืนประเทศต้นตอการผลิต



ผลจากเรื่องนี้ อย.ออกประกาศให้นมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนผสมที่นำเข้าจากประเทศจีนต้องแสดงหลักฐานใบตรวจวิเคราะห์สารเมลามีน ส่วนอาหารอื่นที่ไม่มีนมเป็นส่วนผสม เช่น แป้ง พาสต้า ครีมเทียม ต้องไม่มีสารเมลามีนปนเปื้อนเกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรค เฝ้าระวังคนไทยที่อาจจะป่วยจากการได้รับสารเมลามีน แต่ก็ไม่มีรายงานผู้ป่วยในไทย

2.ขยายสิทธิ “บัตรทอง”

ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 7 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือผู้ป่วยบัตรทอง ปัจจุบันสามารถทำให้ประชาชนไทยกว่า 99.16 % มีหลักประกันด้านสุขภาพ ครอบคลุมเรื่องการดูแลสุขภาพ ส่งเสริม ป้องกันและรักษาโรค



เฉพาะปี 2551 มีการขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ป่วยบัตรทองเพิ่มเติมราว 5 เรื่อง คือ 1.บริการทดแทนไต สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทั้งในด้านวิธีการฟอกเลือด การล้างไตช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต 2.สนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพง จำนวน 8 รายการ เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม และยารักษาอาการเจริญพันธุ์ก่อนวัยในเด็ก เป็นต้น โดยบริหารจัดการร่วมกับหน่วยบริการ

3.การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกประเภท 4.การให้สารเมทาโดนระยะยาวในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดที่สมัครใจ และ5.ยกเลิกการจำกัดความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน จากเดิมไม่เกินปีละ 2 ครั้ง เปลี่ยนเป็นผู้ป่วยสามารถใช้บริการนอกหน่วยบริการที่กำหนดได้ตามความจำเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที

สำหรับในปี 2552 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับงบเหมาร่ายรายหัว 2,202 บาทต่อประชากร ซึ่งได้รับเพิ่มขึ้นจากปี 2551 จำนวน 102 บาท คาดว่าอาจจะมีการดำเนินการขยายสิทธิเพิ่มเติมให้กับผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ให้เข้ารับบริการได้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมให้การรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินรับรักษาไม่เกิน 15 วัน หากทำได้จริงจะช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกมาก

3.เข้ม“หวัดใหญ่”ปลอด“หวัดนก”

นักวิชาการหลายท่านออกมาเตือนว่าอาจจะเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ทำให้สธ.มีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเข้ม โดยมีการติวเข้มบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกัน วินิจฉัย และรักษา ส่วนการฉีดวัคซีน ปี 2551 ฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยโรคเบาหวานและหัวใจ 5 แสนราย โดยในปี 2552 จะขยายให้ถึง 2 ล้านคน และอาจมีการเสนอให้บรรจุเข้าเป็นวัคซีนพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้คนไทยได้รับวัคซีนชนิดนี้ทุกคน โดยปี 2551 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ประมาณ 15,824 ราย

ขณะที่ไข้หวัดนก ประเทศไทยพบผู้ป่วยในปี 2548 จำนวน 5 ราย เสียชีวิต 2 ราย ปี 2549 พบผู้ป่วย 3 ราย เสียงชีวิตทั้งหมด แต่ตั้งแต่ปี 2550 - 2551 ยังไม่พบผู้ป่วย ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเฝ้าระวังโรคและทำงานสอดประสานอย่างเข้มข้นของสธ. โดยมอบหมายให้สำนักระบาดวิทยาติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนทั่วประเทศทุกวัน



และหากมีข่าวสัตว์ปีกล้มตายผิดปกติในพื้นที่ใด อสม.จะเป็นหน่วยทะลวงฟันเข้าประชิดตัวประชาชน เพื่อให้ความรู้และการป้องกันโรคอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันหากมีผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก ห้องแล็ปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจสอบเชื้อทราบผลใน 24 ชั่วโมง ส่วนองค์การเภสัชกรรม(อภ.)พร้อมส่งยารักษาลงพื้นที่ทันทีเช่นเดียวกัน

4.“ซีแอล”นโยบายลับๆล่อๆ

ต้นปีนพ.มงคลประกาศซีแอลยาเพิ่มอีก 4 รายการ ได้แก่ อิมาทินิบ รักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งทางเดินอาหาร ยาโดซีแท็กเซลรักษามะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม ยาเออร์โลทินิบรักษามะเร็งปอด และเล็ตโทรโซลรักษามะเร็งเต้านม หลังจากที่ก่อนหน้านั้นได้ประกาศซีแอลเป็นครั้งแรกในประเทศไทยกับยาต้าน ไวรัสเอดส์ เอฟฟาไวเรนซ์และคราเรตต้า และยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง โคลพิโดเกรล

แต่ทันทีที่นายไชยาก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดในกระทรวง ประกาศยืนยันชัดเจน “การทำซีแอลต้องมีการทบทวน” โดยเฉพาะ ซีแอลยามะเร็ง ด้วยเหตุผล การลงนามประกาศซีแอลคลั้งนี้ น่าเคลือบแคลง เนื่องจากนายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์รัฐบาลขิงแก่ ส่งหนังสือแสดงความเป็นห่วงต่อการทำซีแอลมาให้สธ. ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2551 ก่อนที่นพ.มงคลจะเซ็นลงนามในประกาศ

ทว่าเกิดกระแสต้านจากผู้ป่วยและประชาชนค่อนข้างรุนแรงขนาดก่อม็อบขับไล่กลางกระทรวง จนนายไชยาต้องยอมอ่อนข้อ สั่งให้ปลัด 3 กระทรวงทั้งพาณิชย์ ต่างประเทศ และสาธารณสุข ประชุมร่วมกัน บทสรุปจบลงที่ให้มีการจัดทำฐานข้อมูลยามะเร็งที่ทำซีแอลใหม่ ทั้งจำนวนผู้ใช้ ราคายา ผลกระทบและอื่นๆ ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วค่อนข้างครบถ้วน จึงเป็นเหมือนการทำเพื่อแก้เกี้ยว

แม้ท้ายที่สุด คำพูด รมว.สธ.จะไม่ได้ทำให้ซีแอลยามะเร็งต้องล้มเลิก แต่ก็ส่งผลให้บริษัทยาในประเทศอินเดียขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายที่ลับๆล่อๆ จนการลงนามร่วมกันในการจัดซื้อยาราคาถูกต้องเลื่อนออกไป พร้อมกับผู้ป่วยต้องรอยาต่อไป

เมื่อรัฐมนตรีคนใหม่ นามชวรัตน์ ก้าวจากตำแหน่งรมช.ยุคไชยาเป็นรมว.หลังมีการปรับครม.สมัคร 2 ท่ามกลางกระแสข่าวบริษัทยายักษ์ใหญ่เสนอเงื่อนไขแลกการล้มซีแอล แต่รมว.ผู้นี้ก็ยืนยันให้ซีแอลเดินหน้าต่อไปตามที่มีประกาศไปแล้ว กระทั่ง ช่วงปลายสมัย ร.ต.อ.เฉลิม ไฟเขียวให้เดินหน้าทำซีแอลยาตัวใหม่ โดยมีการเสนอให้ทำซีแอลยาจิตเวช 2 ตัว เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงยามากยิ่งขึ้น แต่ในที่สุดจนสิ้นปี 2551 รัฐบาลที่มาจากเสียงเลือกตั้งของประชาชนมากที่สุด ก็ไม่ได้มีการทำซีแอลยาใหม่แต่อย่างใด

อย่าง ไรก็ตาม ขณะที่ยังไม่มีการประกาศซีแอลกับตัวยาใดเพิ่มเติม การดำเนินงานเพื่อนำเข้ายาที่ได้ประกาศซีแอลไปก่อนหน้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอภ.สั่งซื้อยาโคลพิโดเกรล ล็อตแรก 1.2 ล้านเม็ด ล็อต2 จำนวน 4 ล้านเม็ด ยาเล็ทโทรโซล 4 แสนเม็ด จัดซื้อยาโดซีแท็กเซล จำนวน 6,000 เข็ม รวมไปถึงการสั่งซื้อยาเอฟฟาไวเรนซ์อย่างต่อเนื่อง

5. ห้าม!ขายเหล้า

สำหรับนโยบายรอบปีที่จัดได้ว่า โดนใจ โป๊ะเชะ ประชาชน แต่อาจก่อให้เกิดกระแส ไม่ปลื้มในหมู่นักดื่ม ต้องยกให้ยุคสิงห์เหลิม ซึ่งมีการเสนอให้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสงกรานต์และวันสำคัญทางศาสนา ตามพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2551แต่ที่สุดงานนี้ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ยังไม่มีการแต่งตั้ง

ซึ่งก็ถือว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะก่อนหน้านั้นยุคไชยและชวรัตน์ไม่มีการเขยื่อนใดๆเลย แม้ข้าราชการประจำพร้อมชงกฎกระทรวงและแนวทางปฏิบัติ แต่ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีรมว.สธ.เป็นประธานและคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานไม่พร้อม งานจึงไปไม่ถึงไหน

ทว่า การดำเนินงานของสธ.ในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมคงเป็นการออกมาเตือนบริษัทเหล้า เบียร์ไม่ให้ลด แลก แจก แถม และขายกระเช้าปีใหม่ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พลันที่อ้าปาก ก็มีแรงต้านจากผู้ประกอบการและขาเมาทันที เห็นจะเป็นงานหนักของรมว.วิทยา แก้วภราดัย ต้องเข้ามาสานต่อในเรื่องนี้

6.แก้ฟ้องแพทย์ยังไม่คืบ

ความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำการรักษา จนนำมาสู่การฟ้องร้อง ดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ เนื่องจากตามพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ บริการทางสาธารณสุขเป็นหนึ่งในบริการที่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ฟ้องร้องได้โดยปากเปล่า ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และอายุความยาวถึง 10 ปี จึงอาจทำให้ยอดแพทย์ถูกฟ้องเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ บุคลากรทางการแพทย์มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานวิชาชีพอยู่แล้ว 21 ฉบับ

ซึ่งการพยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้ตลอดปี 2551 ไม่คืบหน้า มีเพียงนายวิชาญแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทจากการใช้บริการทางการแพทย์ ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีฟ้องร้องแพทย์ แต่กลับไม่มีเชิญตัวแทนผู้เสียหายเข้าร่วม จึงไม่ได้รับการเชื่อถือจากอีกฝ่าย

กลับกันฝากฝั่งผู้เสียหายต้องการให้แก้ปัญหาด้วยการเร่งผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด โดยเห็นว่าเป็นความหวังของทั้งฝ่ายแพทย์และคนไข้

จนสิ้นปี เรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรก้าวหน้า ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนคงต้องเร่งสาง ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาโลกแตกหาทางแก้ไม่ได้ เพราะเมื่อนั้นแวดวงสาธารณสุขไทยจะแย่มากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีประมาณ 200 คดี และแพทย์ถูกตัดสินจำคุก 2 คดี

7. “ไชยา”สายล่อฟ้า!

ช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนที่นายไชยา สะสมทรัพย์ ดำรงตำแหน่งรมว.สาธารณสุข เป็นช่วงเวลาที่สร้างความปั่นป่วน วุ่นวายไม่เว้นแต่ละวัน เริ่มด้วยการประกาศทบทวนซีแอล จนเกิดม็อบผู้ติดเชื้อเอชไอวีบุกมาถึงกระทรวงหมอขอความชัดเจน แต่ไม่วาย หลุดปากไล่ให้ไป "กินดอกไม้จัน"แทนยา กลายเป็นวลีแสลงหูฟังแล้ว ช่างดูหมิ่นชีวิตคนเหลือที่จะทน

จากนั้นก็สั่งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขอย่างไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะในรายของ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)เนื่องจากนพ.ศิริวัฒน์ ไม่ตรวจสอบการนำเข้าเครื่องในหมูที่คาดว่ามีเชื้อโรคปนเปื้อน และไม่ตรวจเครื่องดื่มชูกำลัง ถือเป็นการไม่สนองนโยบาย แต่ลึกๆ แล้ว หลายคนเห็นว่า การเด้งฟ้าแลบครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่นพ.ศิริวัฒน์เป็นกลไกสำคัญในการทำซีแอล

จนเป็นที่มาของขบวนการขับไล่ผีป่า โดยภาคประชาชนที่มีชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งมีการทำพิธีขับไล่ผีป่า ซัดข้าวสารเสกพร้อมตั้งต้นล่ารายชื่อ 20,000 คน ถอดถอนนายไชยาออกจากตำแหน่ง

ถัดจากนั้นไม่นาน "นายไชยา" ก็แผลงฤทธิ์อีกครั้ง โดยการเสนอคณะรัฐมนตรี ให้สั่งปลดบอร์ดองค์การเภสัชกรรม (บอร์ดอภ.) ที่มีนพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานบอร์ดอภ.หลังจากที่ไม่สามารถบีบให้คณะกรรมการบอร์ดลาออกเพื่อไม่ให้บอร์ดอภ.ทำหน้าที่ต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็เสนอให้ครม.ตั้งบอร์ดใหม่ที่มี "นายถิรชัย วุฒิธรรม" เป็นประธานบอร์ด อย่างไรก็ตาม บอร์ดชุดใหม่ทำงานได้ไม่ถึงเดือน ศาลปกครองกลางรับไต่สวนฉุกเฉินกรณีปลดบอร์ดอภ.ชุดของนพ.วิชัยและไม่กี่วันต่อมาก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้บอร์ดชุดนพ.วิชัยกลับเข้ามาทำงานต่อไป

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลางที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน และกรรมการ อภ.อีก 4 คน ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีมติปลดบอร์ด อภ. ชุดที่ นพ.วิชัย เป็นประธาน พร้อมมีคำสั่งแต่งตั้งบอร์ด อภ.ชุดใหม่ โดยมี นายถิรชัย วุฒิธรรม เป็นประธานบอร์ด อภ.จึงมีผลให้บอร์ด อภ.ชุดที่ นพ.วิชัย เป็นประธานต้องพ้นจากตำแหน่งในทันที

ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังเดินหน้าขับไล่นายไชยาที่ไล่อย่างไรก็ไม่ไป แต่ก็แพ้ภัยตัวเอง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยว่านายไชยาขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องซุกหุ้นภรรยาที่ถือหุ้นเกิน 5% ดังนั้น นายไชยาจึงพ้นจากตำแหน่ง มีอันต้องหลุดจากเก้าอี้แต่ไปตามระเบียบ แต่ไปได้ดิบได้ดีที่กระทรวงพาณิชย์ ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

8. วงการแพทย์สูญเสีย 2 หมอ ผู้ยิ่งใหญ่

นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ที่สูญเสีย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก ที่ถือเป็นหัวขบวนในการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 นพ.สงวน สิ้นลมอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยวัยเพียง 55 ปี 10 เดือน ด้วยโรคมะเร็งปอด นำความเศร้าเสียใจมาสู่ญาติสนิท มิตรสหายเป็นอย่างยิ่ง กระนั้น คุณหมอสงวน ได้ฝากฝังให้ญาติและบุคคลใกล้ชิด สานต่อเจตนารมณ์ ในการก่อตั้ง กองทุน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่อมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เพื่อเป็นกำลังใจให้กัน

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน วงการแพทย์ไทยยังสูญเสีย พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้บุกเบิกการแพทย์แผนไทยให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก โดยพญ.เพ็ญนภา เสียชีวิต เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยโรคมะเร็งถุงน้ำดีบริเวณท่อน้ำดี รวมมีอายุ 56 ปี

 

พวงชมพู ประเสริฐ-และทีมข่าวสาธารณสุข
นสพ.คมชัดลึก 31/12/51      รายงาน

พิมพ์ อีเมล