มูลนิธิชีววิถี ชี้MOU ‘ซีพี-ส.ป.ก.’ ไม่ใช่ทางออกหนุนเกษตรกรปลูกข้าวโพดยั่งยืน

natdanai080458

'วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ' ฉะบ.กรุงเทพโปรดิ๊วสเเถลงเเก้ต่างปัญหาหมอกควัน สร้างมายาคติเกิดจากหาของป่า ไม่เกี่ยวข้องเผาไร่ข้าวโพด เชื่อ MOU เกษตรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน ไม่สำเร็จ แนะทางออกทำเกษตรผสมผสานแทนเชิงเดี่ยว

 

วันที่ 8 เมษายน 2558 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิชีววิถี ชมรมนักข่าวสิ่งเเวดล้อม เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา เเละศูนย์ศึกษาความเป็นธรรม คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จัดเวทีเสวนา ‘ปลาป่น ข้าวโพด หมอกควัน น้ำท่วม และอาหาร’ ณ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี เปิดเผยในเวทีเสวนาตอนหนึ่งถึงกรณีบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ออกมาปฏิเสธไม่มีส่วนส่งเสริมการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือว่า การแถลงข่าวของซีพีไม่ช่วยให้แก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา โดยมีการสร้างมายาคติเรื่องหมอกควันและปัญหาสิ่งแวดล้อม 4 ประเด็น คือ

1.มายาคติการสร้างข้อมูลว่าปัญหาหมอกควันเกิดจากประชาชนที่หาของป่า โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ภายหลังเริ่มขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชัดเจน ซึ่งการแถลงข่าวของบริษัทเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 ได้บิดเบือนปัญหาแท้จริง อ้างข้อมูลรายงานประจำปี 2557 ของศูนย์ควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งระบุว่า ภาคเหนือมีพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ 25,661 ไร่

โดยเกิดจากการหาของป่าและล่าสัตว์ ร้อยละ 59 ส่วนการเผาไร่มีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นจริง เพราะตัวเลขดังกล่าวเกี่ยวข้องเฉพาะไฟป่า อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับรายงานว่า ภาคเหนือมีพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้เพียง 10,744 ไร่ ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตพื้นที่สูงที่มีถึง 3.5 ล้านไร่

2.มายาคติอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่เกี่ยวข้องกับการเผาไร่ข้าวโพด โดยอ้างถึงการแถลงข่าวของบริษัทในพิธีทำบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โครงการ เกษตรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืนว่า จะมีมาตรการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ หากปฏิบัติได้จริงก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ในความจริงตัวการผลิตและผลผลิตอีกจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสัตว์โดยตรงมีธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมอยู่ด้วย

3.มายาคติบริษัทอาหารสัตว์ไม่ต้องรับผิดชอบปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ปัญหาหมอกควันมิได้มาจากการเผาในประเทศอย่างเดียว แต่ยังมาจากการประเทศเพื่อนบ้านด้วย ดังนั้นบริษัทต้องแสดงความรับผิดชอบ เพราะการส่งเสริมผลิตในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญาทำให้เกิดการผลักดันนโยบายและดำเนินกิจการอาหารสัตว์ในไทย ถ้าปัญหาเกิดขึ้นก็ควรเป็นความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ

4.มายาคติ CSR ของบริษัทนำไปสู่การพึ่งตนเองและการเกษตรที่ยั่งยืน โดยมองจะล้มเหลว ทั้งนี้้ ในแง่บริษัทอาจต้องยกประโยชน์ให้ แต่หน่วยงานราชการที่ร่วมมือด้วยยังไม่ใช่นำไปสู่การพึ่งตนเองและการผลิตอย่างยั่งยืนได้

“บันทึกข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส์ และส.ป.ก. ไม่นำไปสู่เกษตรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืนได้” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว และเสนอทางออก สนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่สูงแทนการปลูกเชิงเดี่ยว

10942526 10204583306677702 1814120980136670861 n

(ภาพโดย บรรจง นะเเส)

ด้านนายเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ กล่าวถึงรายงานการศึกษาวิจัยของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบสัดส่วนแหล่งกำเนิดหมอกควันในพื้นที่ป่ามากกว่าเกษตรกรรม ดังเช่น จ.เชียงใหม่ มีการวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมในแต่ละปี เกิดไฟไหม้ราว 2.8-3 ล้านไร่/ปี ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลของกรมป่าไม้ ระบุมีเพียง 1-2 หมื่นไร่/ปี

โดยพื้นที่เกิดไฟไหม้ราว 3 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 20 พื้นที่ป่า ร้อยละ 80 และเมื่อดูความแตกต่างทางชีวมวลในแปลงเกษตรกรรมหลังปลูกข้าวโพดมีราว 200 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนในแปลงป่ามีราว 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ที่หนักสุด คือ พื้นที่ถูกบุกรุกใหม่มีราว 2-5 หมื่นกิโลกรัม/ไร่ ฉะนั้นต้องทำอย่างไรเพื่อหยุดยั้งการบุกรุกใหม่

ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ ยังกล่าวถึงสภาพปัญหาควบคุมไฟป่าขาดประสิทธิภาพว่า เฉพาะพื้นที่ป่า จ.เชียงใหม่มี 10 ล้านไร่ แต่มีสถานีควบคุมไฟป่าเพียง 2 ล้านไร่ ที่เหลือไม่มีผู้จัดการ ฉะนั้นต้องคิดว่าจะบริหารจัดการอย่างไรในพื้นที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าพูดมานาน แต่ไม่เคยทำสำเร็จ ด้วยปัญหากระบวนการทำงานปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความสามารถในการแยกแยะและกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินและป่าไม่คืบหน้า

“จ.เชียงใหม่ มีข้อจำกัดการสำรวจข้อมูลเพื่อบอกเกษตรกรในพื้นที่ป่ามีที่ดินทำกินเท่าไหร่และเหลือเป็นป่าเท่าไหร่ โดยมีเป้าหมายหมู่บ้านต้องดำเนินการ 1,200 ไร่ แต่กรมป่าไม้ได้รับงบประมาณปีละ 10 หมู่บ้าน ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 120 ปี จึงจะสามารถจำแนกแยกแยะพื้นที่ได้ จึงเป็นปัญหาใหญ่พันไปพันมาไม่สามารถแก้ได้ หากยังคิดแบบระบบราชการเดิม ๆ”

เมื่อถามว่ากระแสข่าวหน่วยงานภาครัฐเผาป่าเพื่อหวังของบประมาณภัยพิบัติลงในพื้นที่ นายเดโช กล่าวว่า เป็นเพียงข้อกล่าวหาไปมา ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจจะมีบ้างที่จะเบื่อกว่าการเฝ้าระวังจะพ้นฤดู จึงไม่ได้ไปเฝ้าระวัง และเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นก็จะไม่มีหน้าที่ต้องทำอะไรอีก แต่ส่วนใหญ่มักเป็นพื้นที่ห่างไกล .


พิมพ์ อีเมล