ปตท.เซ็งประชาวิวัฒน์อุ้มราคาก๊าซ ห่วงรถยนต์แห่ติดแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง

ปตท.เซ็งประชาวิวัฒน์ อุ้มราคาก๊าซ ภาคครัวเรือน-ขนส่ง หวั่นกระทบกลไกตลาด ส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ติด “แอลพีจี” เพิ่มขึ้น เผยปีที่แล้วโตพรวด 14% ยันชัด การกำหนดราคาพลังงาน ควรสะท้อนต้นทุนจริง โวยการกำหนดราคา “เอ็นจีวี” ไม่ควรอิงราคา “แอลพีจี” ครวญแบกต้นทุนหลังแอ่น กก.ละ 14 บาท

นายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงนโยบายนายกรัฐมนตรีที่แถลงเรื่องประชาวิวัฒน์ และให้มีการปรับราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรมเป็นแบบลอยตัวในเดือนกรกฎาคม 2554 นี้ โดยมองว่า ในส่วนของราคาก๊าซโดยรวม คงต้องรอรายละเอียดจากกระทรวงพลังงาน ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“แต่ในหลักการแล้วราคาพลังงานน่าจะปรับให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง บ้าง โดยจะเห็นว่า การประชุมประเทศกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำ หรือ จี20 เมื่อเร็วๆ นี้ ต่างมีมติให้ลดการอุดหนุนราคาพลังงาน ขณะที่ จีน และ อินโดนีเซีย เริ่มมีการประกาศลดการดอุดหนุน เพราะเห็นว่าไม่เป็นผลดีในระยะยาว หากมีการอุดหนุนต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ ปตท.คาดหวังว่า ในที่สุดแล้วราคาก๊าซในประเทศจะมีการปรับขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะก๊าซแอลพีจีนั้น หากไม่ปรับขึ้นราคาในภาคขนส่งเลย ก็จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนของภาครถยนต์ไปใช้แอลพีจีมากขึ้น โดยในปีที่แล้วจะเห็นได้ว่า มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 และอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม จากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติปรับขึ้นราคาขายส่งแอลพีจีหน้าโรงกลั่นให้สะท้อนต้นทุนมากขึ้น ก็จะมีผลให้โรงกลั่นต่างๆ หันมาจำหน่ายแอลพีจีในตลาดมากขึ้น คาดว่า จะมีประมาณ 50,000 ตันต่อเดือน ซึ่งในส่วนนี้จะลดการนำเข้าจากเดิมที่คาดว่า การนำเข้าปีนี้อาจสูงถึง 1.5 แสนตันต่อเดือน จากที่ปลายปีที่แล้ว 1.3 แสนตันต่อเดือน

ส่วนเรื่องราคาเอ็นจีวี นายณัฐชาติ กล่าวว่า ได้เสนอกระทรวงพลังงานว่า ราคาไม่ควรผูกติดกับแอลพีจีทั้งหมด แต่ควรขยับขึ้น 2 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หรือจาก 8.50 เป็น 10.50 บาทต่อ กก.และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังควรต้องอุดหนุนต่อ 2 บาทต่อ กก.หลังจากที่มติ กพช.ที่ให้การอุดหนุน 2 บาทต่อ กก.จะหมดระยะเวลาในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะทำให้ ปตท.มีรายได้เพียงพอในการขยายกิจการเอ็นจีวี เพราะต้องยอมรับว่า ต้นทุนขณะนี้สูงถึง 14 บาทต่อ กก.และที่ผ่านมา ปตท.ได้ชี้แจงกับกลุ่มผู้ใช้เอ็นจีวี ทั้งรถยนต์ขนาดใหญ่และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเข้าใจในเรื่องที่ ปตท.จะขอขึ้นราคาดังกล่าว

ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงขอรอดูมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องนโยบายประชาวิวัฒน์ก่อน จึงจะหารือในรายะละเอียดว่าต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งในส่วนก๊าซครัวเรือนและก๊าซรถยนต์ ไม่ได้หมายความว่า หลังหมดเวลาการตรึงราคาในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้แล้ว ราคาจะไม่ขยับขึ้น แต่จะขึ้นหรือไม่ขณะนี้ย้ำว่าต้องดูความเหมาะสม

สำหรับในส่วนของก๊าซเพื่ออุตสาหกรรม ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายเพื่อปรับราคาลอยตัวตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ตามกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2554 นั้น ในช่วงนี้กระทรวงพลังงานจะหารือกับภาคอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเซรามิก กระจก เพื่อพิจารณาผลกระทบ ว่า จะเดือดร้อนอย่างไร และจะมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อลดผลกระทบหรือไม่

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 มกราคม 2554

พิมพ์ อีเมล