ผู้บริโภคภาคเหนือถามหาเกณฑ์ฯ เผยตายกว่า 60 ยังได้สัมปทาน 'เปรมประชา'เดินรถ เชียงใหม่- แม่ฮ่องสอนต่อ

014812 n

ผู้บริโภคภาคเหนือถามหาเกณฑ์ เผย 'เปรมประชา' ได้สัมปทานเดินรถต่อ 7 ปี แต่เยียวยาผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตไม่คืบ เสนอ รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องทำประกันสมัครใจเพิ่ม ล่าสุดผู้เสียหาย 20 รายจ่อฟ้องแล้ว

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 57 ในเวทีเสวนาวิชาการบทเรียนการทำงาน การคุ้มครองผู้บริโภค : อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ สุภาภรณ์ ถิ่นวัฒนากูล ตัวแทนจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวว่าปัจจุบันการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ เชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน มีบริษัทเดียวที่ได้สัมปทานเดินรถคือบริษัทเปรมประชา ที่น่าสนใจคือ 40-50 ปีที่ให้บริการมามีอุบัติเหตุมาตลอดและต่อเนื่องแต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไร กระทั่งเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุรถพลิกคว่ำลงข้างทางมีผู้เสียชีวิตกว่า 60 คน โดยที่รถคันดังกล่าวรับผู้โดยสารได้เพียง 40 คนเท่านั้น

สุภาพร ชี้ว่า ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจ เพราะหลังเหตุการณ์นี้กลายเป็นครั้งแรกที่คนจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพันคนลุกขึ้นมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเรียกประชุมหน่วยงานต่างๆรวมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้านักการดูแลโดยบริษัทเปรมประชาพบว่ามีเพียงการดูแลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่ไม่มีการทำประกันภัยภาคสมัครใจเพื่อดูแลผู้ประสบเหตุให้ครอบคลุมขึ้นทำให้ผู้เสียชีวิตได้เยียวยาพียง 200,000 บาทเท่านั้น ซึ่งคุ้มแค่ไหนกับการเสียชีวิต และบริษัทยืนยันจ่ายตามภาคบังคับ ทางผู้เสียหายจึงได้เตรียมที่จะฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม

"ปัจจุบันมีเพจ 'คนแม่ฮ่องสอนไม่เอารถโดยสารเปรมประชา' บนเฟสบุ้ค เพื่อเผยแพร่ข้อมูลว่าคนที่นั่นกำลังต่อสู้เรื่องอะไร และตอนนี้คนแม่ฮ่องสอนได้ตัดสินใจครั้งใหญ่คือฟ้องคดีโดยผู้เสียหายประมาณ 20 คน ซึ่งถือว่ากล้ามาก เพราะที่ผ่านมามีการส่งสัญญาณจากภาคราชการมาตลอดว่าอย่าฟ้องจะยุ่งยาก และการรวมกลุ่มของคนแม่ฮ่องสอนเอาเข้าจริงแล้วทำได้ยากเพราะแต่ละพื้นที่ห่างไกลกัน บางคนอยู่ไกลขึ้นไปบนดอยก็มี"

อย่างไรก็ตาม สุภาพร เปิดเผยว่า ล่าสุดทางบริษัทเปรมประชาได้ต่อสัมปทานเดินรถเส้นเดิมต่อไปไปอีก 7 ปี จึงอยากเสนอให้การอนุญาตหรือสัมปทานมีความโปร่งใสตรวจสอบได้และมีส่วนจากประชาชนมากขึ้น และในการให้สัมปทานต่อไป ผู้ประกอบการต้องมีแผนที่บอกว่าจะลดความเสี่ยงอย่างไรมาเสนอด้วย นอกจากนี้ควรต้องออกเป็นกฎหมายบังคับที่ให้บริษัทรถโดยสารสาธารณะต้องประกันภาคสมัครใจกับทุกคันเพื่อให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายมากขึ้น ในส่วนผู้บริหาร เช่น ผู้ว่าฯ ก็ควรเร่งการเยียวยาและช่วยเหลือผู้เสียหายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลงมารับผิดชอบด้วย

พิมพ์ อีเมล