รายงานเส้นทางวิบาก15 ปี…..”กม.คุ้มครองผู้บริโภค

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดหลักการให้ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้ โดยเฉพาะกฎหมายส่งเสริมสิทธิหรือป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ประชาชนในมิติต่าง ๆ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลและรัฐสภาพยายามจะถ่วงเวลาไว้ เพราะถูกกดดันจากกลุ่มต่าง ๆ ที่จะสูญเสียอำนาจหรือผลประโยชน์ การพยายามยืดเยื้อร่างกฎหมายเหล่านี้ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนรู้สึกอึดอัดและเตรียมจะเดินขบวนครั้งใหญ่...

 

 

“พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” คือ หนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศเฝ้าหวังให้ผ่านการ พิจารณาจากรัฐสภา ย้อนอดีตการต่อสู้เพื่อให้มีประเทศไทยมีกฎหมายแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2540 แต่ไม่ค่อยมีรัฐบาลชุดไหนให้ความสนใจนัก  จนกระทั่งรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ม .61กำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ และให้รัฐสนับสนุนงบประมาณด้วย ทำให้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากกว่าเดิม ที่ผ่านมามีการเสนอร่างพ.ร.บ.ข้างต้นมากถึง 7 ฉบับ ที่กำลังพิจารณาในการทำกฎหมายเป็นร่างของรัฐบาล

จุดประสงค์หลักกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนมีองค์กรที่เป็นเครื่องมือต่อสู้กับกลุ่มธุรกิจเอารัดเอา เปรียบประชาชน เช่น กรณี สถานฟิตเนสชื่อดัง “แคลิฟอเนียร์ฟิตเนสว้าว” ได้ปิดสาขา 6 แห่งจาก 8 แห่ง ทำให้สมาชิกหลายพันคนได้รับความเดือดร้อน หรือ กรณีการขึ้นราคาก๊าซ, การทำฉลากเตือนในขนมเด็ก ฯลฯ

ที่สำคัญคือจะมี ” คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ช่วยดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค หากคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคส่วนรวม โดยใช้อำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการหรือพนักงานขององค์การฯ เป็นตัวแทนผู้เสียหายในการดำเนินคดี รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายได้ด้วย ยิ่งไปกว่า นั้นการฟ้องร้องและดำเนินคดีดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวง ทำให้ผู้บริโภคที่กลายเป็นเหยื่อไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินต่อสู้คดีกับ บริษัทใหญ่ ๆ ซึ่งต้องเสียเวลาหลายปีกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด

ร่างกฎหมายข้างต้นขณะนี้อยู่ในขั้นพิจารณาของวุฒิสภา โดยมี 4 ประเด็นที่กำลังถูกแก้ไขคือ

1 เพิ่มงบจาก 3 บาท เป็น 5 บาท ต่อหัวประชากร

2 เพิ่มคณะกรรมการสรรหาจาก 8 คนเป็น 9 คน

3 เพิ่มอายุกรรมการจาก 25 ปี เป็น 35 ปี

4 ให้มีบทลงโทษคณะกรรมการฯหากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

"สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วิเคราะห์ว่าแม้จะเข้าสู่วุฒิสภาแล้ว แต่หนทางอีกยาวไกลเพราะมีหลายกลุ่มต้องการรื้อร่างกฎหมายทั้งฉบับและไม่ให้ตรวจสอบภาคธุรกิจเอกชนไม่ให้เปิดเผยชื่อสินค้าที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคและไม่ให้มีอำนาจในการฟ้องร้องคดี แต่เครือข่าย ฯ ยืนยันว่าต้องมีหลักการ 5 ข้อคือ 1 กำหนดงบประมาณต่อหัวประชากร 2 สามารถตรวจสอบธุรกิจเอกชนได้ 3 สามารถเปิดเผยรายชื่อสินค้าหรือบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้ 4 สามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินคดีได้ 5 สนับสนุนการใช้สิทธิและองค์กรผู้บริโภค

“ที่ต้องมีงบสนับสนุนขั้นต่ำต่อหัวประชากรที่แน่นอน เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวประชากร คำนวณจากประชากร 63 ล้านคนได้ประมาณ 189 ล้านบาท ประเด็นเหล่านี้กรรมาธิการร่วมยังคงเห็นไม่ตรงกัน ยังมีเรื่องการให้อำนาจเข้าไปตรวจสอบธุรกิจเอกชน ที่หลายกลุ่มคัดค้านเพราะเขากลัวมากว่าจะตรวจสอบธุรกิจเอกชน ต้องการให้ตรวจหน่วยงานรัฐ รวมทั้งไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อสินค้าหรือบริษัทที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค และไม่อยากให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดได้ ปากก็บอกว่าอยากให้เกิดแต่ไม่อยากให้ทำอะไร เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเติบโต”

นอกจากนี้ ยังมีอีกร่างกฎหมายหนึ่งที่กลุ่มธุรกิจออกมาคัดค้านอย่างแข็งขัน คือ “ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...” ซึ่งมีการต่อสู้มายาวนานเกือบ 10 ปีเช่นกัน  ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เล่าว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับกำลังต่อสู้กับกลุ่มทุนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน หากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคผ่านสภา คนไข้จะมีหน่วยงานฟ้องแทนได้ ไม่มีค่าทนายความ ไม่เสียค่าธรรมเนียมศาล  แต่กลุ่มแพทย์ไม่ต้องการให้คนไข้มีช่องทางการฟ้องร้องได้โดยง่าย เช่น คดีคนไข้โดนแพทย์ฝึกหัดขูดจนมดลูกทะลุตกเลือดเสียชีวิต สู้คดีนานถึง 8 ปี ศาลฎีกาพิพากษาให้ชนะคดีได้รับค่าชดเชย 7 แสนบาท ฯลฯ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ หากรัฐบาลไม่เร่งผลักดัน ประชาชนจะไม่มีทางออก สุดท้ายมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้

 

พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า

“ประชาชนต้องออกมาช่วยกันทุกจังหวัด ทำหนังสือเรียกร้องจริงจังผ่านสส. ไม่ควรนิ่งเฉยเพราะที่นี่ผลประโยชน์ของทุกคน สื่อมวลชนต้องช่วยนำเสนอข้อมูล และเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ให้คนเรียนรู้เข้าใจ การผลักดันร่างกฎหมายแบบนี้ลำบากมาก เพราะยต่อสู้กับกลุ่มทุนอิทธิพล มีอำนาจเหนือกว่าทุกด้าน หากรัฐบาลและรัฐสภายึดผลประโยชน์ประชาชนจริง คงไม่ต้องเหนื่อยและต่อสู้ยาวนานแบบนี้”

รายงานพิเศษ

คมชัดลึก 22/10/2555

พิมพ์ อีเมล