นักกฎหมายห่วง องค์การอิสระฯผู้บริโภค "แท้ง"

18 ก.พ. 56 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จัดสัมมาวิชาการ เรื่องร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.. : ความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ณ ห้องจิตติ  ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายสมชาย แสวงการ กรรมาธิการร่วมฯ วุฒิสภา  กล่าวว่า เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้   เห็นใจผู้ที่เสนอกฎหมายเช่นกัน ถึงแม้จะมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะต้องเกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายใน  1 ปี  แต่ก็ไม่ระบุว่าหากไม่เกิดจะมีบทลงโทษอย่างไร

“กม.ฉบับนี้อาจอยู่ในภาวะแท้งได้ ซึ่งหลังจากที่ กม.ได้ผ่านการพิจารณาและแก้ไขในชั้นวุฒิสภาแล้ว และได้ส่งกลับให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งไม่ผ่านการเห็นชอบ จึงได้ตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณากฎหมายอีกครั้งโดยมี 4 ประเด็นนั่นก็คือ 1.งบประมาณสนับสนุนจากชั้นวุฒิ 5 บาท ปรับลงเหลือ 3 บาท 2.เพิ่มองค์ประกอบคณะกรรการสรรหา  โดยมีผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 1 คน เป็นกรรมการสรรหา จากจำนวนกรรมการสรรหา 8 คน เป็น 9 คน 3. อายุกรรมการ องค์การฯ ปรับลดลงจากที่วุฒิปรับแก้จาก 35 เป็น 25 ปี และ 4 มีบทลงโทษคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ

ซึ่งการปรับแก้ในชั้นวุฒิสภานั้น ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องหวังดีประสงค์ร้าย แต่ทุกอย่างก็ทำและปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม”

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะผู้เสนอกฎหมายกล่าวว่า องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น มีบัญญัติไว้ในกฎหมายตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2450 ในมาตรา 57 และในปี 2550 มาตรา 61 แต่ปัจจุบัน กฎหมายนี้ก็ยังไม่เกิด

“วันที่ 15 มี.ค. 51 ประชาชนประกาศหารายชื่อ 10,000 คนเพื่อเสนอกฎหมาย จนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ได้เสนอกฎหมายต่อรัฐสภาถึงแม้จะผ่านขั้นตอนการพิจารณากฎหมายไปแล้ว รัฐสภาก็ยังไม่ผ่านร่างกฎหมายนี้ออกมา ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้มีการบัญญัติไว้”

พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหากมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีประโยชน์กับผู้บริโภคนั่นก็คือ

  1. เปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภค เช่น แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว ที่ปิดกิจการ หากเรามีองค์การอิสระก็จะออกมาเตือนให้ผู้บริโภคระวัง ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังจะไปเป็นสมาชิก ก็น้อยลง แทนที่จะถูกหลอกถูกโกงกันเกือบสองแสนคน ก็น่าจะน้อยลง เสียหายกันน้อยลง
  2. ป้องกันปัญหาและเป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคในทุก กรณีที่จะมีการเอารัดเอาเปรียบ เช่น กรณีการขึ้นค่าโทลเวย์จาก 55 บาท เป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเพียงแต่ติดประกาศแจ้งผู้ใช้รถทราบภายใน 30 วัน แต่หากมีองค์การอิสระ กรมทางหลวงต้องจัดส่งเรื่องนี้ ขอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการ ฯ ต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้โดยใช้ข้อมูลความรู้ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การทำหน้าที่ให้ความเห็นจะช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้บริโภคและช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลจากตัวแทนของผู้บริโภคมากขึ้น แทนที่กลุ่มผู้บริโภคต้องอาศัยการฟ้องคดีในการคัดค้านการขึ้นราคาซึ่งก็เป็นปลายเหตุ
  3. เท่าทันปัญหาและใช้ชีวิตทันสมัยได้อย่างไม่ถูกหลอกถูกโกง เช่น ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า และโฆษณาในโทรทัศน์ ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน เคเบิ๊ลทีวี เพราะแม้แต่เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปที่มีรังนกแห้งเพียง 1 % แต่กลับโฆษณารังนกแท้ 100 %
  4. เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จหรือครบวงจร (one stop service) ผู้บริโภคสามารถไปร้องเรียน ตรวจสอบ ขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และติดตามความคืบหน้าได้ในทุกประเด็นปัญหา ทุกข้อเรียกร้อง  แม้องค์การนี้จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งห้าม สั่งปิด สั่งรื้อ หรือสั่งปรับ ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาก เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อยากจะร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิก็ยากที่จะรู้ว่าต้องเดินไปที่ไหน โทรศัพท์สายด่วนเบอร์อะไร
  5. ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค ให้คุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น กรณีแร่ใยหินที่พบข้อมูลชัดเจนว่าทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เดิมประเทศไทยมีเพียงมาตรการฉลาก หากมีองค์การอิสระ ต้องขอความคิดเห็นจากองค์การนี้ ซึ่งจะมีโอกาสเสนอให้ยกเลิกการใช้อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือถึงแม้ในปัจจุบันจะมีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกการนำเข้าและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมแร่ใยหิน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมกลับโยกโย้ จะทำงานวิจัยใหม่ แทนที่จะปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรี องค์การอิสระ ก็จะช่วยตรวจสอบการทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการคุ้มครองผู้บริโภค แทนที่หน่วยงานอื่น ๆ ต้องแก้ปัญหาจากการตีรวนไม่ทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม
  6. ผลักดันให้กฎหมายเป็นกฎหมาย เช่น กสทช.กำหนดกติกาให้บริษัทมือถือห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน แต่ในความเป็นจริงทุกบริษัทกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินกันทั้งนั้น ไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ทำผิด กสทช.ก็มีมาตรการปรับวันละ 100,000 บาท รวม 3 บริษัทก็ตกเดือนละ 9 ล้านบาท แต่บริษัทก็อุทธรณ์ เพราะการไม่ทำตามคำสั่งได้ประโยชน์มากกว่าเพราะมีตัวเลขชัดเจนว่า ผู้บริโภคที่ร้องเรียน ถูกยึดเงินไปเฉลี่ยคนละ 517 บาท หากคิดว่าถูกยึดเงินเพียงร้อยละ 1 จากจำนวน 70 ล้านเลขหมาย บริษัทจะได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท

 

อาจารย์คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรทศาสตร์ ได้กล่าวถึงกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้โภคหน่วยงานรัฐอย่าง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค   อย. หรือแม้แต่อัยการสูงสุด ก็ยังมองงานการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ขาด จึงทำมีปัญหาตลอดมา

“พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ผมเห็นด้วยกับการที่จะให้มีการจัดตั้งขึ้น  และผ่านออกมาเป็นกฎหมายให้ได้ก่อน  ส่วนจะทำงานได้เต็มคุณภาพหรือเปล่า ก็ค่อยมาแก้กฎหมายกันอีกที  เพราะถ้าหากว่าจะรอให้ทุกอย่างพร้อม เพอร์เฟ็กก่อนแล้วค่อยผ่านเป็นกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องยากมาก

แต่ถึงแม้จะเห็นด้วย แต่ก็มีความเห็นต่างในเนื้อกฎหมาย ซึ่งองค์การอิสระฯ ก็เป็นหน่วยงานของรัฐ การกำหนดบทบาทหน้าที่ให้สามารถตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ ได้นั้น ก็ต้องเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเท่ากัน เพราะองค์การอิสระฯนั้น  ถือเป็นผู้ใช้อำนาจของรัฐ 3 อย่างก็คือ อำนาจบริหาร อำนาจนิติศาสตร์ และอำนาจตุลาการ  ซึ่งอำนาจที่จะตรวจสอบกันได้นั้นต้องเท่าเทียมกัน  ซึ่งองค์การอิสระฯที่เป็นอิสระในอำนาจบริหารแต่ที่เป็นเนื้องานหนึ่งของฝ่ายบริหาร   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีอำนาจการตรวจสอบและรายงานเท่านั้น

อำนาจที่ให้องค์การอิสระไว้นั้น ในความคิดของผมนั้นมีความเห็นว่าเกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ กรณีการให้อัยการฟ้องแทนผู้บริโภค  ก็ต้องดูให้ดีว่าเป็นอย่างไร   ซึ่งเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาล ศาลก็ต้องถามหาผู้เสียหาย  ก็ต้องมีการตีความเรื่องผู้เสียหายให้ชัดเจน ไม่งั้นอำนาจตรงนี้ก็จะใช้งานอะไรไม่ได้   อยากให้ถอยกลับไปดูภารกิจเบื้องต้นก่อนในการทำให้ผู้บริโภคใช้สิทธิ์และคุ้มครองตัวเองได้ได้อย่างไร และหากเกิดขึ้นจริงก็ควรจะเข้าดูปัญหาในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง หรือหากองค์การอิสระฯ ไม่เกิดมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ควรจะรับไป”  อ.คมสัน กล่าวเพิ่มเติม

รศ. สุดา วิศรุตพิชญ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง องค์การอิสระว่าหากจะเกิดก็ต้องเกิดอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาแล้วกลายเป็นปัญหา

“หากร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ผ่าน กม.ออกมาได้ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในส่วนแรกก็คือการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง ซึ่งบทบาทขององค์การอิสระฯนี้มีอยู่การให้ความรู้กับผู้บริโภคมีหลายระดับ  ในด้านการตรวจสอบนั้นอยากให้องค์การอิสระฯ ใช้ความเป็นวิชาการเข้าไปตรวจสอบ   มีการรายงานผลการตรวจสอบ และส่งต่อให้หน่วยงานที่มีอำนาจในการจัดการเรื่องนั้นๆ เป็นผู้ใช้อำนาจ เช่นกรณีฟิตเนตแคลิฟอร์เนีย มีการแจ้งเข้ามาว่าหลอกลวงผู้บริโภค  ก็ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลและส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผู้จัดการ จะเป็นผลดีมากกว่า  เพราะหากฟ้องแทนผู้บริโภค เมื่อเข้าสู่ชั้นศาล ศาลก็ต้องถามหาผู้เสียหาย และมือสืบกันจริงๆ เรื่องก็จะถูกตัดออกจากศาลไป  เพราะนิยามของผู้เสียยังไม่ชัดเจน

การจะทำให้ข้อพิพาทยุติโดยเร็ว ควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายวิชาการในการศึกษาวิจัยและเสนอแผนในการแก้ไขปัญหานั้นๆว่ามีช่องโหว่ตรงไหน เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยเร็วนั่นเอง

ในเรื่องบทบาทหน้าที่ในการบริหารงานที่มีเลขาธิการในการบริหาร เพราะคัดเลือกมาจากคณะกรรมการ หากมีเลขาธิการดีนั่นคือตัวสำนักงาน ไม่ดีก็จะไม่มีการชงเรื่องให้คณะกรรมการในการพิจารณาและแก้ปัญหานั่นเอง ก็ควรจะชัดเจน

อีกประเด็นที่เป็นข้อสงสัยก็คือ องค์การอิสระนี้จะเป็นองค์กรเอ็นจีโอหรือเปล่า ซึ่งกระบวนการในการเคลื่อนไหวต่างๆ นั้นต้องเป็นอิสระจากเอ็นจีโอด้วย ต้องแสดงให้ สส.เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นอิสระจากทุกภาคส่วน เป็นกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ เป็นตัวประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ แทนการเข้าไปเป็นเจ้าของข้อพิพาทนั้นเอง  ซึ่งจะทำให้องค์การนี้เป็นอิสระจริงในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง” รศ. สุดากล่าว

พิมพ์ อีเมล