ผู้บริโภคยื่นหนังสือผู้ตรวจการ ตรวจสอบประมูล 3G

7 พ.ย. 55 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เวลา 10.30 น. เครือข่ายองค์การผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือผู้ตรวจการแผ่นดิน  ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่อง พร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง พิจารณาวินิจฉัยกรณีการ ดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการจัดประมูล 3G

 

โดยได้แนบ  1) เปรียบเทียบขั้นตอนและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามที่ระเบียบกำหนดกับการ ดำเนินการจริงในกรณีการออกประกาศ 3G  2) รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ครั้งที่ 6/2555 เมื่อ วันที่ 6 กรกฎาคม 2555  3) บันทึกข้อความที่ปรึกษารองประธาน กสทช. พันเอกเศรษฐพงค์ฯ ที่ 124/55 ลงวันที่ 24   กรกฎาคม 2555 เรื่อง ระยะเวลาและขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ  4) คำสั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ ที่ 2/2555 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT – 2000 หรือ IMT Advanced b 5) บันทึกข้อความที่ สทช 5002/146 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2555 เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz  6) คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ    โทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 162/2555 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนภารกิจเพื่อเตรียม ความพร้อมในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz  7) บันทึกข้อความที่ สทช 1003.10/518 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2555 เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้โครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz   8) บันทึกข้อความที่ สทช 5009/97 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เรื่อง รายงานผลการศึกษาเรื่องการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และ 9) บันทึกข้อความที่ สทช 5005/ว00777 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2555 เรื่อง รายงานฉบับสมบูรณ์ ผลการศึกษาเรื่องการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz

 

ในจดหมายระบุว่า    ตามที่ กสทช.ได้จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz เพื่อให้มีบริการ 3G จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งทางสมาคมฯ ให้ความสนใจติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และพบว่า ในการเตรียมการและดำเนินการจัดประมูลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ในครั้งนี้ มีขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายประการ โดยมีรายละเอียดของข้อเท็จจริงดังนี้

1. กระบวนการจัดทำประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications –IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ไม่เป็นไปตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พ.ศ. 2548 โดยในการออกประกาศดังกล่าว แม้ว่าจะมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 28 แห่ง พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แต่ก็มิได้ดำเนินกระบวนการตามที่ระเบียบ กทช. กำหนด โดยเฉพาะในเรื่องการประกาศเชิญชวนและเผยแพร่เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นล่วงหน้าเป็นเวลา 15 วันก่อนเริ่มการรับฟังความคิดเห็น ตามข้อ 21 ของระเบียบ เนื่องจาก กทค. มีความเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขาดสภาพการบังคับใช้แล้ว อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เคยให้ความเห็นรับรองการมีผลใช้บังคับของระเบียบดังกล่าวในส่วนกิจการโทรคมนาคมเอาไว้ และที่ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช. ก็เคยทักท้วงในเรื่องเดียวกันอีกด้วย

 

2. กระบวนการเสนอเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของร่างประกาศฯ ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ มิได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT – 2000 หรือ IMT Advanced ที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้นโดยคำสั่ง ที่ 2/2555 ลงวันที่  20  มกราคม 2555 เพื่อทำหน้าที่เตรียมความพร้อมในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz  แต่เป็นการดำเนินการโดยคณะทำงานที่สำนักงาน กสทช. ตั้งขึ้น  ทั้งที่ในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานของสำนักงาน กสทช. ระบุอย่างชัดเจนว่าคณะทำงานนั้นตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการที่ กสทช. แต่งตั้ง  ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องหลากหลายแขนงและมาจากหลายภาคส่วน ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กทค. เสียงข้างน้อยมีการทักท้วงไว้ตั้งแต่ขั้นตอนการกลั่นกรองเรื่องก่อนเข้าสู่ที่ประชุม กทค. แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาจากสำนักงาน กสทช. หรือ กทค. คนอื่นๆ

 

3. ในขั้นตอนการพิจารณาราคาเริ่มต้นการประมูลของ กทค. และ กสทช. นั้น ปรากฏว่า ข้อมูลที่มีการนำเสนอประกอบการพิจารณาของ กทค. และ กสทช. คือร่างรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงาน กสทช. มีการนำส่งให้ กสทช.  แต่ละรายเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555  ทั้งนี้ตามร่างรายงานดังกล่าวมีการเสนอตัวเลขราคาประเมินจำนวน 6,676 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ อันแตกต่างจากตัวเลขที่ปรากฏในรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งเพิ่งมีการจัดทำแล้วเสร็จเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2555  โดยมีการกำหนดราคาที่ 6,440 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่

 

ดังนั้น การกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 1 ชุดคลื่นความถี่ จึงคิดเป็นเพียงร้อยละ 67.4 ของราคาประเมินตามข้อมูลที่มีในขณะพิจารณาเท่านั้น แต่หากเปลี่ยนตัวเลขฐานเป็น 6,440 ล้านบาทตามที่ปรากฏในรายงานฉบับสมบูรณ์ของจุฬาฯ ที่จัดทำเสร็จในภายหลังจากที่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไปแล้ว สัดส่วนของราคาตั้งต้นก็จะเท่ากับประมาณร้อยละ 70 ของราคาประเมินตามที่ กสทช. โดยเฉพาะ กทค. เสียงข้างมากกล่าวอ้างมาโดยตลอด ประเด็นจึงเป็นที่น่าสนใจว่า ในการใช้ดุลยพินิจของ กสทช. นั้นอ้างอิงตามผลการศึกษาของจุฬาฯ หรือผลการศึกษาของจุฬาฯ อ้างอิงตามความเห็น กสทช. กันแน่ และส่งผลให้การใช้ดุลยพินิจนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 

จากประเด็นทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น สมาคมฯจึงขอให้คณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้โปรดพิจารณาวินิจฉัยเรื่องขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการจัดประมูล 3G ของ กสทช. และนำเสนอเรื่องดังกล่าวพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาต่อไป

พิมพ์ อีเมล