ผู้บริโภคเดินหน้าฟ้องศาล กรณีจอดำวอนศาลลงโทษ เหตุลิดรอนสิทธิ์ผู้บริโภค

เครือข่ายประชาชนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นศาลแพ่ง ฟ้องร้อง บ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กรณีทำจอดำการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งยื่นฟ้อง บ.บีอีซี เทโร สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 9 พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้มีการแพร่ภาพและกระจายเสียงการ แข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ก่อนที่การแข่งขันจะสิ้นสุดในวันที่ 2 ก.ค.นี้

 

25 มิ.ย.55 ศาลแพ่งรัชดา – ผู้บริโภคนำโดย นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  พร้อมด้วย นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นางสาวเรณู  ภู่อาวรณ์  นายขวัญมนัส  พูลมิน และนายเฉลิมพงษ์  กลับดี เข้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่งรัชดา ยื่นเรื่องฟ้องบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1 กองทัพบก เป็นจำเลยที่ 2 บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 3 และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เป็นจำเลยที่ 4 ในข้อหา “ร่วมกันทำละเมิดและผิดสัญญา”

โดยในคำฟ้องระบุว่าขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้ง 4 กระทำการคือ

1.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ดำเนินการแพร่ภาพและกระจายเสียงรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ผ่านระบบการส่งภาคพื้นดิน ผ่านระบบจานรับสัญญาณดาวเทียม ผ่านระบบอื่นใด หรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชมรายการผ่านการรับสัญญาณทุกประเภทตามที่เคยปฏิบัติ โดยด่วนที่สุดก่อนฤดูกาลแข่งขันจะสิ้นสุดในวันที่ 2 กรกฎาคม 2555

2.ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการไม่รับผิดชอบต่อธุรกิจของตนเอง ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นโดยคำนึงถึงความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับจำนวน 11 ล้านครอบครัวและผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับและสถานะการเงินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ด้วย

3.ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,590 บาท หรือ ในราคาเท่ากับกล่องรับสัญญาณของ GMMZ

4. ขอให้ศาลมีคำแนะนำไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุดเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค เพราะกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด ไม่สามารถคุ้มครองการละเมิดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึงฟรีทีวีได้ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในสังคมไทย

 

รายละเอียดคำฟ้อง 

 

ข้อ 1     จำเลยที่ 1  มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภท บริษัทจำกัด (มหาชน)  ดำเนินกิจการโดยได้รับสัมปทานจาก อสมท. (องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย) มีวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการสาธารณะในการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีชื่อทางการค้า ว่า สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  โดยแพร่ภาพและเสียงทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง  3   รายละเอียดและวัตถุประสงค์ปรากฏตาม หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1

จำเลยที่ 2  มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545  โดยมีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5  เป็นหน่วยงานในสังกัด โดยมีวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการสาธารณะในการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีชื่อทางการค้าว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5  โดยเผยแพร่ภาพและเสียงทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

จำเลยที่ 3  มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภท บริษัทจำกัด (มหาชน)  มีวัตถุประสงค์ ประกอบกิจการสาธารณะในการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  มีชื่อทางการค้าว่า บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)  โดยรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดำเนินการแพร่ภาพและเสียงทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (MCOT)   รายละเอียดและวัตถุประสงค์ปรากฏตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2

โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างดำเนินการตามที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่อยู่ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498

จำเลยที่ 4 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าและจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม รายละเอียดและวัตถุประสงค์ปรากฏตาม หนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3

ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สื่อสารมวลชน ถ่ายทอดข่าวสาร บันเทิง กีฬา ฯลฯ โดยไม่เก็บค่าบริการ หรือที่เรียกว่า ฟรีทีวี อันเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคที่ต้องเข้าถึงได้  และนำเวลาช่วงโฆษณาของสถานีไปขายให้กับบริษัทห้างร้านที่สนใจ จะลงโฆษณาต่างๆในเวลาดังกล่าว โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้จำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม จำเลยทั้งสี่จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ตามคำนิยามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551

ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มาตรา 3  บัญญัติว่า  “ ผู้บริโภค หมายความว่า ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม “

ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้บริโภคสื่อสาธารณะ (ฟรีทีวี) ดังกล่าว    โจทก์จึงเป็นผู้บริโภค ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551

คดีนี้จึงเป็นคดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริการ จึงเป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 3

ข้อ 2       แต่เดิมนั้นการออกอากาศกระจายเสียงและแพร่ภาพของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจในระบบสัมปทานโดยการเผยแพร่ภาพสัญญาณผ่านคลื่นความถี่ หรือ ฟรีทีวี  โดยเป็นการกระจายเสียงและแพร่ภาพภาคพื้นดิน (Analog) ที่มีการตั้งเสาส่งสัญญาณออกอากาศ ซึ่งในที่ห่างไกลจากที่ตั้งเสาส่งสัญญาณออกอากาศ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็จะมีสถานีถ่ายทอดสัญญาณภาคพื้นดิน ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ประสงค์จะให้สัญญาณไปถึง   ผู้บริโภคคนใดที่ประสงค์จะรับชมการออกอากาศของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จากเครื่องรับโทรทัศน์ของตน หากอยู่ใกล้สถานีส่งสัญญาณ ก็สามารถใช้เสาอากาศที่ติดมากับเครื่องรับโทรทัศน์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เสาหนวดกุ้ง เพื่อรับชมได้ แต่หากอยู่ห่างไกลจากสถานีส่งสัญญาณ ก็จะต้องจัดตั้งเสารับสัญญาณ โดยมีแผงรับสัญญาณของแต่ละช่องที่ชาวบ้านเรียกว่า “  เสาก้างปลา “ และมีชื่อทางเทคนิคว่า “ แผงรับสัญญาณประเภทยากิ ”  แต่การส่งสัญญาณภาคพื้นดินดังกล่าว มีข้อจำกัดในด้านการเข้าถึงสัญญาณเนื่องจากปัญหาหลายประการ รวมทั้งคุณภาพและความคมชัดของภาพและเสียง อันเนื่องมาจากสภาพพื้นที่แต่ละพื้นที่ที่มีความสามารถในการรับคลื่นความถี่ได้แตกต่างกันและบางพื้นที่อาจไม่สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้เลย

ซึ่งรวมถึงโจทก์ที่ไม่สามารถรับชมฟรีทีวีได้เนื่องจากบ้านอยู่อาศัยอยู่ใกล้อาคารสูงบดบังเคลื่อนสัญญาณ และโจทก์บางคนอยู่ใกล้ทะเล ซึ่งมีคลื่นลมและคลื่นสัญญาณอื่นๆรบกวนทำให้ไม่สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ภาคปกติ (ฟรีทีวี) ได้อย่างปกติต่อเนื่องทั้งภาพและเสียง   ดังนั้นเพื่อให้โจทก์สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่างๆ รวมถึงรับชมบริการสาธารณะรายการโทรทัศน์ภาคปกติ (ฟรีทีวี) ได้ปกติเช่นผู้บริโภคอื่นๆ  จากผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐนั้น นอกจากนี้ในปัจจุบันการเลือกใช้เสาอากาศนอกจากบางครั้งมีปัญหาเรื่องคุณภาพแล้ว ยังมีราคาแพง หาผู้ดำเนินการได้ยาก ประกอบกับปัจจุบันอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและราคาถูกมีให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากถึงร้อยละ 75 ของจำนวน 20 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ใช้ระบบเคเบิ้ลทีวีและดาวเทียมในการรับส่งสัญญาณภาพและเสียงจากโทรทัศน์ ทดแทนระบบสัญญาณที่มีคุณภาพสูงกว่าเสารับสัญญาณ (เสาก้างปลา) และเสาอากาศ (เสาหนวดกุ้ง) ดังกล่าว

ซึ่งต่อมาวิทยาการในการกระจายเสียงและแพร่ภาพออกอากาศมีความเจริญก้าวหน้าขึ้น มีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยมีการส่งสัญญาณแพร่ภาพผ่านระบบสัญญาณดาวเทียม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งรูปแบบการเรียกเก็บค่าบริการและไม่เรียกเก็บค่าบริการ แต่ก็ยังมีการพ่วงรายการของฟรีทีวีเข้าไปด้วย เพราะถือว่าเป็นการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งการส่งสัญญาณแพร่ภาพผ่านระบบสัญญาณดาวเทียม แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ระบบ KU-band และ C-band   ซึ่งหากโจทก์ประสงค์จะรับชมการแพร่ออกอากาศผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมนั้น  ต้องจัดหาอุปกรณ์จานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อรับชมการแพร่ภาพออกอากาศดังกล่าวได้  อันเป็บนสิทธิของโจทก์หรือประชาชนทั่วไปที่จะเลือกใช้อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมถึงรับชมรายการโทรทัศน์ภาคปกติ (ฟรีทีวี) ตามที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งการรับชมการเผยแพร่ออกอากาศผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมนั้นมีความชัดเจนกว่าระบบภาคพื้นดิน  อีกทั้งการแพร่ภาพออกอากาศผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมนั้น ทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ต้องลงทุนขยายสถานีส่งสัญญาณเพิ่มเติม  อีกทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชะลอหรือหยุดดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการส่งสัญญาณผ่านระบบภาคพื้นดินมาช้านาน ทำให้ผู้บริโภคต้องจำยอม แบกรับภาระเสียเงินติดตั้งเครื่องรับ ติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อให้รับชมภาพได้คมชัดมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงได้แพร่ภาพออกอากาศของตนผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมเรื่อยมาควบคู่ไปกับการแพร่ภาพสัญญาณผ่านระบบภาคพื้นดิน   ทั้งนี้มีผลเป็นการช่วยขยายขอบเขตพื้นที่การให้บริการของสถานีโทรทัศน์ที่ให้บริการสาธารณะ ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ประโยชน์จากการเก็บค่าโฆษณาและขยายจำนวนผู้ชมรายการจากสถานีของตนเอง

ในระบบสากลที่ประเทศอันเป็นต้นแบบทั้งยุโรปและอเมริกา ได้เล็งเห็นแล้วพัฒนาระบบกฎหมายเป็นหลักพื้นฐานก่อนว่า ปวงชนมีสิทธิเข้าถึงฟรีทีวี ได้โดยไม่จำกัดเทคโนโลยี จากนั้นตัวกฎหมายโทรทัศน์จึงไปกำหนดเพิ่มเติมอีกว่า บรรดาทีวีดาวเทียมหรือทีวีเคเบิ้ลต้องรับหน้าที่แปลงสัญญาณฟรีทีวีส่งให้แก่ลูกค้าไปพร้อมๆกับรายการของตนด้วย เพราะถือว่าเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อไม่ให้ขัดกับพระราชบัญญัติการกีดกันและเข้าถึงบริการสาธารณะ  ดังนั้นประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค จึงมีสิทธิเลือกรับชมรายการฟรีทีวี ผ่านระบบใดก็ได้ แต่ต้องสามารถรับชมรายการที่เป็นฟรีทีวี ที่เป็นบริการสาธารณะครบทุกช่องทางโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งโจทก์ก็เป็นผู้บริโภคจากการรับชมการกระจายเสียงและแพร่ภาพ โดยซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อรับชมการกระจายเสียงและแพร่ภาพออกอากาศของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่นกัน และก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ โจทก์ยังได้รับชมรายการที่ออกอากาศทางฟรีทีวีของจำเลยทั้งสามผ่านระบบจานรับสัญญาณดาวเทียม อยู่เป็นปกติเสมอมาโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน

ข้อ 3     เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระจายเสียงและแพร่ภาพออกอากาศผ่านระบบสัญญาณดาวเทียม จึงถือได้ว่าเป็นการทำคำเสนอไปยังโจทก์ เมื่อโจทก์ติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อรับชมการกระจายเสียงและแพร่ภาพออกอากาศของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงถือว่าเป็นคำสนองรับข้อเสนอของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3  สัญญารับบริการการกระจายเสียงและแพร่ภาพระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเกิดขึ้นโดยปริยาย  ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องปฏิบัติตามสัญญาในการดำเนินกิจการสาธารณะ หรือตามประเพณีทางการค้า  และมีหน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนของตน  โดยออกอากาศเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านระบบดาวเทียมทุกรายการตามปกติของตน

ข้อ 4     เหตุคดีนี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เนื่องจากจำเลยที่ 4 เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ครั้งที่ 14 หรือ ยูโร 2012  ซึ่งมีเจตนาที่จะแพร่ภาพและกระจายเสียงผ่านระบบทีวีสาธารณะหรือฟรีทีวี ซึ่งประชาชนผู้บริโภคโดยทั่วไปสามารถรับชมรายการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ได้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5 และ 9 หรือ ที่เรียกว่า ทีวีสาธารณะ หรือ ฟรีทีวี และรับชมผ่านทางกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม GMMZ

แต่เมื่อถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2555  ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประกาศประชาสัมพันธ์ไว้  โจทก์กลับไม่สามารถรับชมการกระจ่ายเสียงและแพร่ภาพสัญญาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 จากกลุ่มจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามวันเวลาที่ประกาศไว้  มีแต่เพียง “ จอดำ “ ให้กับโจทก์รับชมเท่านั้น   โดยไม่มีแม้แต่รายการปกติประจำวันของทางสถานีที่เคยออกอากาศเป็นปกติอยู่แล้ว หรือรายการพิเศษทดแทนให้โจทก์รวมถึงผู้บริโภคอื่นๆให้ได้รับชมแทนในช่วงเวลาดังกล่าว  และตราบจนถึงปัจจุบันวันฟ้อง โจทก์ก็ยังไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 หรือ แม้กระทั่งรายการปกติ หรือรายการทดแทนอื่นใดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เลย

จากพฤติการณ์ดังกล่าว จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ได้ร่วมกันล่วงละเมิดสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณะอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค ด้วยการหยุดการถ่ายทอดรายการผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำการเป็นปกติ ทำให้โจทก์ไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดรายการช่องฟรีทีวีผ่านทางจานรับสัญญาณดาวเทียมของโจทก์ได้  จึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์  อีกทั้งยังเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์อีกด้วย

การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3  ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ภาคปกติ (ฟรีทีวี) จึงเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของโจทก์และประชาชนชาวไทยในฐานะผู้บริโภคสื่อมากกว่า 11 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ  ทั้งที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  สามารถถ่ายทอดทางฟรีทีวีให้ผู้บริโภคทั่วประเทศได้รับชมได้ดังเช่นที่มีการปฏิบัติในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ โดยการใช้รหัสป้องกันเพื่อไม่ให้ก้าวล้ำไปประเทศเพื่อนบ้าน และสามารถป้องกันการกระจายเสียงและแพร่ภาพโทรทัศน์ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  กลับเลือกการกระทำละเมิดต่อประชาชนผู้บริโภคมากกว่า 30 ล้านคน (11 ล้านครัวเรือน) เพียงเพราะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  สมคบกันทำธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภค ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจกีดกันกันเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในการรับฟรีทีวีเพื่อให้ได้มาซึ่งการขยายฐานลูกค้าและช่องทางการจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ  ในราคาประมาณ 1,590 บาท ของตนเองได้ และยังเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ปิดกั้นผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าของคู่แข่งขันมิให้เข้าถึงฟรีทีวี เพื่อขายกล่องสัญญาณและแย่งลูกค้าของคู่แข่ง  โดยปัจจุบันมียอดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ ของจำเลยที่ 4 ไม่น้อยกว่า 800,000 กล่อง นับเป็นมูลค่าสูงถึง 1,272 ล้านบาท  ขณะที่จำเลยที่ 4 ชำระค่าธรรมเนียมรวมค่าภาษี เพียง 214 บาทเท่านั้น

ซึ่งหากโจทก์ประสงค์จะรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 โจทก์ต้องจัดหาอุปกรณ์ต่างๆทั้งเสาหนวดกุ้ง หรือ เสาก้างปลา หรือ กล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMz ของจำเลยที่ 4 เพื่อรับชม ซึ่งจะทำให้โจทก์และผู้บริโภคอื่นๆ ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังเสมือนเท่ากับยอมจ่ายค่าไถ่หรือค่าผ่านทางให้แก่พวกจำเลยทั้งสี่ผู้กระทำละเมิดเข้ามาปิดกั้นทางสาธารณะแล้วเรียกค่าผ่านทาง นอกจากนี้จำเลยที่ 4 ยังมีเจตนาไม่สุจริตแอบแฝงอยู่กล่าวคือ ให้ผู้บริโภคที่ซื้อกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 ในครั้งนี้แล้ว และต่อไปในอนาคตเมื่อจำเลยที่ 4 หรือบริษัทในเครือก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมก็ต้องเป็นลูกค้าผู้ชมช่องของจำเลยที่ 4 โดยปริยาย

ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  มุ่งรอนสิทธิโจทก์และประชาชนคนไทยให้ต้องเสียหายและประชาชนบางส่วนจำต้องยอมจำนนไปซื้อกล่องรับสัญญาณดาวเทียมจากจำเลยที่ 4  หรือซื้อเสาอากาศเพิ่มเติม ทำให้ผู้บริโภคเสียหายต้องจ่ายเงินโดยไม่มีความจำเป็นมากถึง 2,000 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายที่เกิดจากการสมคบกันระหว่างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  อย่างชัดแจ้ง  โดยเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 แล้ว ถึงขั้นร่วมมือเป็นคู่ธุรกิจในการหาโฆษณามาเป็นรายได้แบ่งสรรกับจำเลยที่ 4 หรือแม้ในกรณีจำเลยที่ 3 ที่ทำสัญญาขายเวลาถ่ายทอดเท่านั้น ก็ยังถูกจำเลยที่ 4 มีหนังสือสั่งตรงให้จำเลยที่ 3 จัดการให้บล็อกสัญญาณได้เลย รายละเอียดปรากฏตามหนังสือขอความร่วมมือในการดำเนินการถ่ายทอดสด เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4

ข้อ 5    การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ที่ไม่แพร่ภาพและสัญญาณเสียงออกอากาศผ่านระบบสัญญาณดาวเทียม จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต อีกทั้งยังเป็นการผิดสัญญาการให้บริการสาธารณะในการแพร่ภาพและกระจายเสียง รวมทั้งกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับชมรายการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3  และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นส่วนรวม ขอให้ศาลบังคับจำเลยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ดังนี้

5.1       ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ดำเนินการแพร่ภาพและกระจายเสียงรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ผ่านระบบการส่งภาคพื้นดิน ผ่านระบบจานรับสัญญาณดาวเทียม ผ่านระบบอื่นใด หรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับชมรายการผ่านการรับสัญญาณทุกประเภทตามที่เคยปฏิบัติ โดยด่วนที่สุดก่อนฤดูกาลแข่งขันจะสิ้นสุดในวันที่ 2 กรกฎาคม 2555

5.2       ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการไม่รับผิดชอบต่อธุรกิจของตนเอง ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งสี่จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นโดยคำนึงถึงความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับจำนวน 11 ล้านครอบครัวและผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับและสถานะการเงินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ด้วย

5.3       ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,590 บาท หรือ ในราคาเท่ากับกล่องรับสัญญาณของ GMMZ

5.4 ขอให้ศาลมีคำแนะนำไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุดเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค เพราะกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด ไม่สามารถคุ้มครองการละเมิดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึงฟรีทีวีได้ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในสังคมไทย

พิมพ์ อีเมล