zoczoc banner

ศาลฎีกาสั่ง รพ.สมิติเวช จ่าย 8.3 ล้าน ทำคลอดแม่-ลูกเสียชีวิต

ศาลฎีกา สั่ง รพ.สมิติเวช จ่ายเงิน 8.3 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ทำคลอดเมียเสียชีวิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นพยาน ระบุ หมอทำคลอดขาดความรับผิดชอบจนคนไข้หัวใจวาย เสียชีวิต และเป็นอุทาหรณ์ให้แพทย์ตระหนักถึงจริยธรรม และมีความรับผิดชอบมากขึ้น

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีที่ นายบุรินทร์ เสรีโยธิน กับ ด.ช.บดินทร์, ด.ญ.บุษรินทร์, ด.ช.ศุภโชค เสรีโยธิน บุตรของนายบุรินทร์ และ นายเขษม นางนารี กีรติธรรมคุณ บิดามารดาของ นางจุรีรัตน์ เสรีโยธิน อายุ 36 ปี ผู้ตาย และบริษัท ขอนแก่นแห-อวน จำกัด ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-7 ยื่นฟ้องบริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) นพ.เกรียงไกร อัครวงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.สมิติเวช สาขาสุขุมวิท พญ.สุภัค จันทร์จำปี วิสัญญีแพทย์ และ นพ.ชลัท ตู้จินดา แพทย์เจ้าของไข้ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ เรื่อง ละเมิดเรียกค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ 700 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยชดใช้เงิน ฐานกระทำละเมิดจำนวน 10 ล้านบาทเศษ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1, 3, 4 ได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้อง ขณะที่โจทก์ก็ยื่นฎีกา เฉพาะจำเลยที่ 1, 3 และ 4 เท่านั้น

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือโดยละเอียดแล้ว รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 สมรสกับนางจุรีรัตน์ ผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีของบริษัทโจทก์ที่ 7 ซึ่งมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือโจทก์ที่ 2-4 ต่อมา นางจุรีรัตน์ ได้ตั้งครรภ์ และโจทก์พาผู้ตายไปฝากครรภ์และคลอดที่ รพ.จำเลย เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2538 คณะแพทย์ได้ฉีดยาและให้นอนพักเพื่อดูอาการ วันรุ่งขึ้นผู้ตายมีอาการปวดท้องและน้ำคร่ำเดิน แพทย์ได้ฉีดยาอีก จนเช้าวันที่ 8 ก.ย.2538 ผู้ตายส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด โจทก์ที่ 1 เข้าไปดู แต่ไม่พบแพทย์และพยาบาล จึงไปตามแพทย์ โดยมีจำเลยที่ 4 มาดูอาการ ซึ่ง นพ.ชลัท จำเลยที่ 4 มีอาการตกใจ ต่อมา นางจุรีรัตน์ ได้ถึงแก่ความตาย พร้อมบุตรในครรภ์ เนื่องจากน้ำคร่ำไหลย้อนเข้ากระแสโลหิต และปอด ทำให้เกิดภาวะหายใจติดขัด เลือดไม่สูบฉีด จนหัวใจวาย

การเสียชีวิตของผู้ตาย ทำให้โจทก์ขาดไร้ค่าอุปการะ ค่าจัดการงานศพ ค่าเลี้ยงดู ขาดค่าการงานในการประกอบอาชีพแห-อวนของบริษัท

มีประเด็นต้องพิจารณาว่า จำเลยที่ 1, 3, 4 กระทำละเมิดหรือไม่ เห็นว่า ขณะทำคลอด โจทก์ที่ 1 อยู่ในห้องคลอดตลอดเวลา ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 ได้จ่ายยาชา จับชีพจร จากนั้นพากันออกไป แล้วให้พยาบาลดูแลแทน โดยที่จำเลยที่ 3, 4 ไม่ได้อยู่ดูแลตลอดเวลา ซึ่งตำราทางการแพทย์ และวิสัญญีแพทย์ ระบุว่า เมื่อคนไข้รับยา แพทย์ต้องอยู่ดูแลตลอดเวลา เพราะยามีอันตราย อาจทำให้คนไข้ตัวสั่นตาเขียว

โดยโจทก์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีแพทย์ เบิกความว่า พยาบาลที่ไม่เคยให้ยาด้านวิสัญญีแพทย์ จะกระทำหน้าที่วิสัญญีแพทย์ไม่ได้ และคนไข้ต้องอยู่ในความดูแลของวิสัญญีแพทย์ เพราะระหว่างให้ยาอาจเกิดอาการแทรกซ้อน แพทย์ต้องไม่ละทิ้งผู้ป่วย และต้องรับผิดชอบ คดีนี้ไม่ใช่เสียชีวิต 1 คน แต่เป็น 2 คน แพทย์ยิ่งต้องรับผิดชอบเป็นทวีคูณ ถือว่าจำเลยที่ 3, 4 ไม่รับผิดชอบ ละเลยต่อหลักวิชาชีพ ทั้งที่ต้องคอยดูชีพจร ซึ่งคดีนี้ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก หากจำเลยที่ 3, 4 อยู่ดูอาการ ก็จะพบอาการที่เกิดขึ้น ลำพังพยาบาลไม่อาจแก้ไขได้ทัน นอกจากนี้ จำเลยที่ 3, 4 ยังทำผิดรัฐธรรมนูญ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแพทยสภาก็รับรองไว้ ว่า แพทย์ต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงของคนไข้ แต่จำเลยที่ 3, 4 ไม่บันทึกอาการของผู้ป่วยแสดงให้เห็นถึงความชุ่ย

ศาลฎีกายังมีความสงสัยในการสอบสวนของคณะกรรมการแพทยสภาชั้นอนุกรรม การกับชั้นอนุกลั่นกรอง ซึ่งมีความขัดแย้งกัน และท้ายสุดก็มีการลงโทษจำเลยที่ 3, 4 เพียงภาคทัณฑ์ และว่ากล่าวตักเตือน

นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูตินรีศาสตร์ ยังเบิกความว่า การที่โจทก์พาผู้ตายไปคลอดที่ รพ.จำเลย ที่เป็นเอกชน ก็เพราะเชื่อมั่นว่าจะได้รับการบริการที่ดีกว่าของรัฐ แม้จะเสียค่าบริการสูง ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ดูแลให้ดีที่สุด แม้อ้างว่าห้องคลอดมีระบบตรวจชีพจรแบบอัตโนมัติ แต่จากคำเบิกความพยาน พบว่า เครื่องดังกล่าวไม่มีจอแสดงผลตลอดเวลา ซึ่งหากจำเลยอยู่ดูแลในห้องคลอด ก็จะสามารถเยียวยาแก้ไขดูแลคนไข้ได้ทัน ความตายของคนทั้งสองจึงเกิดจากความละเลยของจำเลย

ส่วนที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ที่ 1-6 สร้างเรื่องขึ้นมานั้น ศาลฎีกา เห็นว่า โจทก์ที่ 1 อยู่ในห้องคลอดตลอดเวลา สามารถเบิกความถึงช่วงเวลาต่างๆ อย่างละเอียด และนำพยานมาสืบจำนวนมาก จึงไม่มีเหตุกลั่นแกล้งจำเลย โจทก์เองก็ใช้บริการ รพ.จำเลยนานนับสิบปี ปกติก็ไม่มีใครอยากฟ้องร้องแพทย์ การที่จำเลยที่ 3, 4 ไม่อยู่ในห้องคลอดตลอดเวลา จึงเป็นการกระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวัง จนเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงต้องรับผิดฐานละเมิด แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจเรื่องเงินค่าเสียหาย แต่ต้องการฟ้องให้แพทย์มีความรับผิดชอบและระมัดระวังในการดูแลรักษาคนไข้มาก ขึ้น แต่จำเลยยังต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาจำเลยที่ 3, 4 เมื่อจำเลยที่ 3 ทำละเมิด จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1, 3, 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 2.8 ล้านบาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1 ล้านบาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 2 ล้านบาท แก่โจทก์ที่ 5 และ 6 คนละ 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 8.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 8 ก.ย.2538 และให้จำเลยจ่ายค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์รวม 1.5 แสนบาทด้วย

ภายหลัง นายบุรินทร์ เปิดเผยว่า ที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องในครั้งนี้ เนื่องจากการรักษาของ รพ.ไม่ได้มาตรฐานทำให้ภรรยาตนถึงแก่ชีวิต กระทั่งวันนี้ศาลฎีกาตัดสินให้ชนะคดีใช้เวลานานกว่า 16 ปี เพื่อความเป็นธรรมให้ภรรยา

“คดีนี้จะเป็นเทียนไขให้แสงสว่างให้กับผู้ป่วยและคนไข้ได้รับรู้ สิทธิของตนเอง ทำให้วงการแพทย์ รพ.ต่างๆ จะต้องตระหนักระวังในการรักษาคนไข้ให้ได้มาตรฐาน มีจริยธรรมความสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คดีนี้ตอนไกล่เกลี่ยตนต้องการแค่คำขอโทษ ที่รู้สำนึกในการรักษาคนไข้ ไม่ใช่เรื่องทรัพย์สินเงินทอง ส่วนทรัพย์สินที่ได้ จะนำไปบริจาคทำคุณประโยชน์แก่วงการแพทย์ หรือสาธารณชนด้านอื่นๆ ทั้งหมด ต้องขอขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมคดีแพ่งถึงที่สุดแล้ว ส่วนอาญาต้องรอปรึกษากับคนในครอบครัวก่อน” นายบุรินทร์ กล่าวตอนท้าย

ทีมข่าวอาชญากรรม 24 มกราคม 2555

พิมพ์ อีเมล