สมัชชาสุขภาพชงขยายลาคลอด 6 เดือนส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนม

ที่ ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 มีมติเสนอให้แก้กฎหมายแรงงาน ขยายสิทธิลาคลอดจากเดิม 3 เดือน เพิ่มเป็น 6 เดือน เผยสถิติประเทศไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำลงไม่ถึง 10% ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา เวียดนาม ขณะที่ประเทศรวันดา แชมป์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วง 6 เดือนแรกสูงถึง 88% ส่วนไทยติดอันดับเกือบรั้งท้ายที่ 105 จาก 109 ประเทศ เตือนเลี้ยงลูกด้วยนมผงเสี่ยง 5 โรค ชี้รัฐบาลต้องเสียงบค่ารักษาปีละ 80 ล้านบาท

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานประเด็นการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก เล็ก แถลงบนเวทีนโยบายสาธารณะเกาะติดมติ "การควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก" ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 15-17 ธ.ค. 2553 ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ว่า ล่าสุดที่ประชุมสมัชชาสุขภาพมีมติเห็นชอบในการผลักดันปรับปรุงกฎหมายเกี่ยว กับสิทธิการลาคลอดของกระทรวงแรงงาน ซึ่งในเนื้อหาสาระจะมีการกำหนดจำนวนวันลาคลอดจาก 3 เดือน หรือ 90 วัน เพิ่มเป็น 180 วัน หรือประมาณ 6 เดือน

ทั้งนี้ จะมีประโยชน์ให้แม่สามารถให้นมบุตรได้ครบอย่างน้อย 6 เดือน พร้อมทั้งจะมีการผลักดันให้สถานประกอบการมีพื้นที่จัดเก็บนมแม่ และล่าสุด จากการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 63 ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกออกมาตรการเชิงกฎหมายด้วย ซึ่งขณะนี้ ได้มีการดำเนินการเช่นกัน

"ยอมรับมีความเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากขณะนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าหากลาคลอดนาน ก็จะส่งผลเสียต่อกำลังบุคลากร และเสียผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการบางรายอาจจะเลิกจ้างก็ได้ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการหารือกันก่อนหากจะมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิลาคลอด อาจจะเป็นการขยายเวลาลาคลอดได้ แต่ลดค่าจ้างรายเดือนตามสัดส่วนเหมือนต่างประเทศ หรืออาจจะขยายเวลาจาก 3 เดือน เป็น 4-5 เดือนก็ได้" นพ.ศิริวัฒน์กล่าว

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตกต่ำมากเพียงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียงอย่างเวียดนาม กัมพูชา รวมทั้งกับนานาประเทศ ซึ่งพบว่าประเทศไทยเป็นอันดับที่ 105 จาก 109 ประเทศ ในขณะที่ประเทศรวันดา มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระหว่าง 6 เดือนแรกสูงถึงร้อยละ 88 ต่อเดือน เรียกว่าหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกไม่สามารถใช้ได้จริงในประเทศไทย เพราะเมื่อไม่มีกฎหมายลงโทษ บริษัทผู้ผลิตก็ไม่เกรงกลัว ทำให้มีการละเมิดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือว่ามีประโยชน์มาก ขณะที่หากเลี้ยงลูกด้วยนมผสมหรือนมผงพบว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กอายุ 0-1 ปีเจ็บป่วยด้วยโรค 5 โรค คือ ท้องเสีย หอบหืด ผื่นแพ้ เยื่อจมูกอักเสบ และโรคแพ้โปรตีน โดยเจ็บป่วยอย่างน้อย 170,000 ครั้งต่อปี และรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอย่างน้อยปีละ 80 ล้านบาท

 
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553


พิมพ์ อีเมล