ชงแก้ 4 ประเด็นเน้นปรับ ม.41-NGO เผยวิปรัฐเรียกแต่ละฝ่ายชี้แจงวันนี้

คณะทำงานพิจารณาร่าง กม.ผู้ป่วยฯ สรุป 4 ประเด็น เน้นปรับปรุง ม.41 คุ้มครองประชาชน รอผลประชาพิจารณ์ สผพท.เร่งจับตาดูท่าทีวิป ด้านวิปรัฐ เรียกหมอ-คนไข้ หารือ กม.ผู้เสียหายฯ

วันนี้ (10 พ.ย.) ที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี คณะทำงานพิจารณาศึกษา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...ของแพทยสภา ได้จัดสัมมนาสรุปปัญหาผลกระทบและหาทางออกในความขัดแย้งของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีแพทย์และบุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุขเข้าร่วม อาทิ สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ

โดยนาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ในฐานะเลขานุการคณะทำงาน กล่าวภายหลังการสัมมนา ว่า จากการที่ร่วมสัมมนาในครั้งนี้ คณะ ทำงานมีมติร่วมกันใน 4 ประเด็น คือ 1.เห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนข้อสรุปจาก 12 ประเด็นของ สธ.ในกรณีที่ระบุว่า หลักการของร่าง พ.ร.บ.นี้ สามารถคุ้มครองทั้งผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข อันจะนำมาซึ่งความสุขของทั้งสองฝ่าย 2.ระหว่างรอการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้รัฐบาลมีการชี้แจงข้อเท็จจริงแก่ประชาชน เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในทุกภาคส่วนว่ามีปัญหาในส่วนใด บ้าง แล้วดำเนินการแก้ปัญหานั้นให้ตรงจุด เช่น หากพบว่า รพ.ใดมีปัญหาก็ให้แก้ไข และมีการรายงานด้วยว่าแก้ไขอย่างไรบ้าง ผลจากการแก้ไขเป็นอย่างไร โดยดูทีละส่วนไม่ใช่รือทั้งระบบ 3.เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้กระทบกับคนส่วนมาก จึงเห็นควรให้มีการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ จากประชาชนทุกกลุ่ม และ 4.ระหว่างรอการทำประชาพิจารณ์และแก้ปัญหา พ.ร.บ.ฉบับนี้ อยากให้มีการปรับปรุงเนื้อหาและหลักการในมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ให้ครอบคลุมประชาชน

ด้านศ.นพ.อาวุธ ศรีสุกรี ประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า หากกฎหมายนี้มีการประกาศใช้ จะมีผลทำให้แพทย์เปลี่ยนทัศนคติจากที่เคยมองประโยชน์ส่วนรวมก็จะกลับกลายมา มองประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น และผลกระทบก็จะเกิดกับคนไข้ ตรงที่จะได้รับผลเสียมากขึ้น เนื่องจากแพทย์หวาดระแวงการถูกฟ้อง ระแวงต่อความผิด เช่น กรณีที่คนไข้ต้องรักษาในโรคใดโรคหนึ่งอย่างเร่งด่วน โดยการผ่าตัดแต่แพทย์กลับไม่แน่ใจ ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกังวลว่าคนไข้อาจได้รับอันตรายแล้วตนจะมีความผิดถูก ฟ้องได้ คนไข้ก็จะมีอาการที่รุนแรงขึ้นซึ่งก็ชัดเจนว่า ผลเสียนั้นไม่คุ้มค่า

“การ ที่จะพิจารณาออกกฎหมายได้จะต้องไม่อิงเพียงประชานบางส่วน แต่ควรที่จะให้ทุกภาคส่วนเห็นด้วย และโดยเฉพาะแพทย์ พราะคนที่เคยถูกปลูกฝังในอาชีพว่าต้องทำเพื่อส่วนรวม อยู่ๆ เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ถูกจับตามองก็จะมีความเห็นแก่ตัวซึ่งตรงนี้ไม่อยาก ให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้เร่งมือในการทำประชาพิจารณ์เพื่อเปิดรับความคิดเห็นอย่าง รอบด้าน” ศ.นพ.อาวุธ กล่าว

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวว่า การทำประชาพิจารณ์ของ 9 คณะทำงานจากตัวแทนองค์กรแพทย์สังกัดต่างๆ 80 คน ซึ่งมอบหมายให้ทาง สผพท.เป็นผู้ดำเนินการนั้น เป็นการทำประชาพิจารณ์ในส่วนของบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ทั้งแพทย์พยาบาล เภสัชกรรม นักเทคนิค เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งได้ทำใน 41 จังหวัด จำนวน 1 แสนคน พบว่า ไม่เห็นด้วยในร่างกฎหมายนี้ทั้งหมด แต่การจะมาระบุว่าเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวย่อมไม่เป็นความจริง เนื่องจากฝั่งสนับสนุนก็ดำเนินการให้ข้อมูลด้านเดียวมาโดยตลอดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า สิ่งที่ให้ข้อมูลกับทางบุคลากรทางการแพทย์ล้วนเป็นความจริง ซึ่งหากต้องการความเป็นธรรมก็เสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการทำประชาพิจารณ์ ใหม่ดีกว่า

“ระหว่าง นี้ทาง สผพท.จะมีการเฝ้าจับตาอย่างต่อเนื่อง ว่าในวันที่ 26 พ.ย นี้จะมีการนำเข้าที่ประชุมสภาฯหรือไม่ และท่าทีของรัฐบาลจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะยังไม่แน่ใจเรื่องการเมือง ในเมื่อความเดือดร้อนของประชาชนในวิชาชีพแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขยังมีแล้ววิปยังจะผลักดันต่อไปหรือไม่ แม้วิปจะเคยพูดว่าไม่นำเข้าแต่ก็ยังไม่แน่ใจ” นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว

ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.. ว่า ล่า สุด วิปรัฐบาลได้มอบหมายให้คณะกรรมการที่ปรึกษากลั่นกรองร่างกฎหมายของสภาผู้แทน ราษฎร เรียกฝ่ายวิชาชีพแพทย์และเครือข่ายผู้ป่วยฝ่ายละ 4 คนเข้าชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 11 พ.ย.2553 ตั้งแต่เวลา 13.30 น.ที่อาคารรัฐสภา 3 ห้องกรรมาธิการงบประมาน โดยมี นายวิรัตน์ กัลยาศิริ รองประธานวิปรัฐบาล เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายผู้ป่วยพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะต้องการให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งนี้ ทางที่ดีที่สุดอยากให้รัฐบาลชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้จริงๆ ไม่ใช่ออกมาประกาศชัดเพียงว่าจะเดินหน้า ขณะที่การกระทำกลับไม่มีอะไรยืนยันได้

น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีความพยายามในการทำประชาพิจารณาของฝ่ายแพทย์ ซึ่งทราบมาว่า การประชาพิจารณ์ดังกล่าวเป็นเพียงการให้ข้อมูลด้านเดียว อย่างกรณีคณะกรรมการกองทุนเกรงว่าจะมีแต่พวกเอ็นจีโอ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่มีตัวแทนจากสภาวิชาชีพร่วมด้วย และการระบุว่า กฎหมายดังกล่าวจะไปเบียดบังงบประมาณตามสถานพยาบาลทั่วไป โดยเฉพาะสถานพยาบาลสำหรับประชาชน ยิ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงงบประมาณกองทุนมาจากกองทุนมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และเงินสมทบจากสถานพยาบาลเอกชนเป็นเบี้ยสมทบ ส่วนโรงพยาบาลของรัฐ กองทุนจะขอสมทบปีต่อปีจากรัฐบาล โรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่ต้องเสียซ้ำเสียซ้อน ทางที่ดีที่สุดหากต้องการทำประชาพิจารณ์ควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)



โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2553 07:55 น.

พิมพ์ อีเมล