รวมพลังรณรงค์จดบันทึกยา ลดปัญหายาตีกัน-กินซ้ำซ้อน

สภาเภสัชกรรม ร่วมกับสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) จัดโครงการสัปดาห์เภสัช ประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค. 2554 รณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการจดบันทึกรายการยาที่ใช้ เพื่อลดปัญหาเรื่องยาตีกัน-ใช้ยาซ้ำซ้อน ภายใต้คำขวัญ “บันทึกยา รักษาต่อเนื่อง ลดปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร” ชี้อันตรายจากยาตีกัน-ใช้ซ้ำซ้อนเป็นภัยเงียบของผู้ใช้ยา อาจอันตรายถึงตายได้




ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2553 สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 12% ของประชากรไทย และประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 17% ในปี 2563 ซึ่งแน่นอนผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัวไม่โรคใดก็โรคหนึ่ง
“เป็น ที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้มักมีหลายโรคร่วม การรักษาหลักก็คือ รับประทานยา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกันและใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง ช่วงเวลาการนัดผู้ป่วยเพื่อมาติดตามผลการรักษามีความถี่ต่ำ อาจเป็น 3-6 เดือน ซึ่งในระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่บ้านและรับประทานยาหลายชนิด ใช้ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทั้งจากยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัว จากการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยอื่นๆ จากการใช้ยาซ้ำซ้อน และจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยหยุดยาเองโดยไม่บอกแพทย์ ทำให้โรคยิ่งเป็นมากขึ้น หรือยาที่ใช้รักษาได้ผลลดลงหรือเพิ่มมากขึ้นจนเป็นอันตรายได้ เป็นต้น” ภญ.รศ.ธิดากล่าว

ทั้งนี้ การที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับยาหลายชนิดร่วมกัน การรับประทานยาไม่ถูกต้อง หรือพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเอง เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ามานอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ามานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมีสาเหตุมาจากเรื่องของยา โดยที่ 40% มีสาเหตุมาจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง และอีก 60% มาจากอาการไม่พึงประสงค์จากยา

ภญ.รศ.ธิดากล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้มักได้รับยามาจากสถานพยาบาลหลายแห่ง โดยแต่ละแห่งไม่ทราบข้อมูลว่าผู้ป่วยรับประทานยาอะไรอยู่บ้างเป็นประจำ หรือการที่ผู้ป่วยไปหาซื้อยา อาหารเสริม หรือแม้แต่สมุนไพรมารับประทานเอง นอกจากเกิดปัญหาการได้รับยาซ้ำซ้อนแล้ว ยังอาจเกิด “ยาตีกัน” ได้

“ยาตี กัน” หมายถึง การที่ฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งร่วม ด้วย โดยผลที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดผลการรักษาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรืออาจทำให้ผลการรักษาลดลงก็ได้ บางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตามยาตีกันจะเกิดผลมากน้อยขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วย ระยะเวลาที่ใช้ยาร่วมกัน และขนาดยาที่ใช้ด้วย เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิดจะตีกันกับยาที่ผู้ป่วยได้รับอยู่แล้ว เช่น ยาลดไขมัน ยาหัวใจ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น ทำให้ระดับยาในเลือดของยาเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น ในผู้ป่วยบางคนอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ต้องระมัดระวังในการซื้อยาหรืออาหารเสริมมารับประทานร่วมด้วย เพราะอาจเกิดปฏิกิริยากัน ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ หรือการรับประทานยาฆ่าเชื้อบางกลุ่ม ร่วมกับยาลดกรดหรือแคลเซียม เหล็ก วิตามินบางชนิด จะทำให้การดูดซึมของยาฆ่าเชื้อลดลงกว่าครึ่ง ผลการฆ่าเชื้อก็ลดลงด้วย

นอกจากยาตีกันเองแล้ว อาหารเสริมที่ไม่ได้จัดเป็นยาหรือสมุนไพรบางชนิดก็สามารถ “ตีกับยา” ได้ เช่น น้ำผลไม้บางชนิด กระเทียมหรือแปะก๊วย อาจเพิ่มฤทธิ์ของยาที่ต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือยาที่ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้ป่วยในเรื่องการรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า ล้วนมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยาทั้งสิ้น

ภก.รศ. (พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า จากปัญหาในการใช้ยาที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และจากภารกิจหลักของเภสัชกร ที่จะต้องสร้างหลักประกันความปลอดภัยในการใช้ยาให้กับผู้ป่วยและประชาชน ในวาระงานสัปดาห์เภสัชกรรมปี 2554 นี้ สภาเภสัชกรรมร่วมกับองค์กรเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ทั้งเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ได้จัดทำ “สมุดบันทึกยา” ขึ้น เพื่อบันทึกประวัติการใช้ยาประจำตัวผู้ป่วย ใช้เป็นเครื่องมือของเภสัชกรในภาคส่วนต่างๆ ทั้งในโรงพยาบาลและร้านยาที่จะได้ร่วมกันดูแลความปลอดภัยในการใช้ยาของ ประชาชน

“สมุดบันทึกยา” จะมีข้อมูลรายการยาที่ผู้ป่วยใช้ ไม่ว่าจะได้จากสถานพยาบาลใด ซึ่งจะช่วยให้ตรวจสอบ ดูแลปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษา ช่วยให้แพทย์หรือเภสัชกรไม่จ่ายยาที่ซ้ำซ้อนกับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ หรือเลือกจ่ายยาที่ไม่ “ตี” กับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการใช้ยา ในสมุดบันทึกยานอกจากจะมีรายการยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับแล้ว ยังมีการบันทึกรายละเอียดที่สำคัญของผู้ป่วยไว้ ทั้งประวัติการแพ้ยา อาการข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น.

พิมพ์ อีเมล