นโยบายการพึ่งตัวเองด้านยาที่ถูกลืม

สถานการณ์ยาสวนกระแสนโยบายพึ่งต้นเองด้านยา นักวิชาการเผยยอดมูลค่าน้ำเข้ายาต่างประเทศเพิ่มถึง 38,000 ล้านบาท ขณะที่การผลิตยาในประเทศต่ำ นั่นเพราะคนไทยยังนิยมยานอกเพราะเชื่อว่ารักษาดีกว่ายาไทย ส่งผลยาผูกขาดปรับราคาสูงขึ้น ชี้รัฐควรส่งเสริมการใช้ชื่อยาสามัญในบัญชีหลักพร้อมยกระดับสมุนไพรทางเลือกให้ได้มาตรฐาน

8 ธ.ค. เสวนาอาศรมความคิดระบบยา เรื่องนโยบายแห่งชาติด้านยา : ทิศทางการพึ่งตนเองด้านยาของประเทศ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องราวที่น่าสนใจด้านยา

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงสถานการณ์ยาในประเทศว่าสวนกระแสกับนโยบายแห่งชาติเรื่องการพึ่งตัวเองด้านยาของประเทศเป็นอย่างมาก มีมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพบว่า ในปี 2533 มีมูลค่าการนำเข้ายาแผนปัจจุบันถึง 19,968 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมูลค่าการผลิตยาในประเทศอยู่ที่ 23,088 ล้านบาท หรือ59 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในปี 2548 มีมูลค่าการนำเข้ายาแผนปัจจุบันสู่ขึ้นถึง 38,293 ล้านบาทหรือ 56 เปอร์เซ็นต์ แต่มูลค่าการผลิตยาในประเทศกลับอยู่ที่ 29,088 ล้านบาทหรือ 43 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนไทยเชื่อว่าการรักษาด้วยยาจากต่างประเทศจะดีกว่ายาที่ผลิตในประเทศไทย และในปัจจุบันยังไม่มีกลไกควบคุมราคายาที่ชัดเจน  ทำให้ยาบางตัวที่ผูกขาดปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งยาบางตัวที่นำเข้ายังแพงกว่าในประเทศอังกฤษ

แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์จะออกมาประกาศให้มีมาตรฐานควบคุมราคายา แต่ยังมียาที่มีราคาแพงเพราะขาดมาตรฐานในการกำหนดราคายา หากมีนโยบายเรื่องการพึ่งพรตัวเองด้านยา ด้วยการกระตุ้นหรือส่งเสริมการใช้ยาสามัญที่มีอยู่ในบัญชียาหลัก การส่งเสริมอุตสหกรรมผลิตยาในประเทศ รวมถึงเรื่องการสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรก็จะช่วยให้คนไทยไม่ต้องกินยาแพงและลดการพึ่งพิงยาจากต่างประเทศได้

นอกจากนี้ยัง วิเคราะห์แนวทางการจัดทำนโยบายแห่งชาติเรื่องการพึ่งตัวเองด้านยาของประเทศ ไทยว่า จะสร้างได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมและเห็นความสำคัญในเรื่องเดียวกัน รวมทั้งต้องมีเจ้าภาพในการขับเคลื่อนอย่างจริงจังและชัดเจน ทั้งนี้หัวใจของนโยบายฯ มีด้วยกัน 4 ประการ คือ 1.การพึ่งตนเอง ทั้งระดับปัจเจก ระดับหน่วยปฏิบัติ และระดับชาติ 2.การเข้าถึงยา 3.การประกันคุณภาพความปลอดภัย 4.การใช้ยาอย่างมีเหตุผล

นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ ประธานฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศรว่า เกิดจากความต้องการให้ประชาชนพึ่งตัวเองทางด้านยาเพื่อลดการใช้ยาต่างประเทศ เพราะหากทำได้จะสามารถประหยัดเงินได้หลายหมื่นล้านบาท โดยเป้าหมายสูงสุดคืออยากให้ทุกครัวเรือนมีสมุนไพรไว้ใช้ในบ้าน และมองว่าสมุนไพรเป็นอาหารที่สามารถบริโภคได้นอกเหนือจากช่วงที่มีอาการป่วย

นพ.ประพจน์ เภตรากาศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า แนวโน้มการใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าการใช้ยาแผนปัจจุบันกลับพบว่ายังคงแตกต่างกันมาก ดังนั้นยาสมุนไพรจึงต้องปรับตัวให้ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ปี 2553 มีการใช้สมุนไพรอยู่ที่ 100 - 200 ล้านครั้ง คาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 – 5 เท่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม มองว่า สังคมไทยมีความรู้ที่ดี แต่เกรงใจและยอมให้ความรู้ทางตะวันตกเข้าครอบงำ ดังนั้นทางรอดของแนวการพึ่งตัวเองคือ ต้องสะกัดกั้นอิทธิพลหรือปัจจัยภายนอกที่ทำให้ความเชื่อเรื่องการพึ่งตัวเอง ของคนไทยลดลง ในขณะเดียวกันต้องฟื้นฟูความรู้และจัดการระบบการให้รางวัล

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานโครงการร่วมระหว่างฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น องค์การหมอไร้พรหมแดน บอกว่า แม้อุตสาหกรรมยาจะไม่ใช่อุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้ให้กับประเทศ แต่จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่องยา มิฉะนั้นประเทศจะตกอยู่ในกำมือของบริษัทยาข้ามชาติ จึงควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เลือกยาเข้าระบบให้เหมาะสมอย่างคุ้มค่าทั้งในเชิงประสิทธิภาพและเศรษฐกิจ

เป็นการนำปัญหาที่ถูกละเลยไปอย่างยาวนาน มาวิพากษ์ให้สังคมตระหนักอีกครั้ง

พิมพ์ อีเมล