กสทช.เคาะ 26-27 ธ.ค.ประมูลทีวีดิจิทัล

550502-tvกสทช.เตรียมประกาศวันประมูลทีวีดิจิทัล 26-27 ธ.ค.นี้ ชง 2 รูปแบบ “วันเดียวจบหรือ2วัน” ด้าน “สุภิญญา” ชี้ทีวีดิจิทัลจุดเปลี่ยนหน้าจอฟรีทีวี

 

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) ประเภทบริการธุรกิจ 24 ช่อง เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี 29 บริษัท รวม 41 ซองผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล โดยในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค.นี้ กสทช.จะประกาศ วัน เวลา และสถานที่การประมูลอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ตามประกาศหลักเกณฑ์การประมูลกำหนดให้จัดขึ้นภายใน 30 วันหลังประกาศรายชื่อ คือไม่เกินวันที่ 11 ม.ค.2557

 

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า การพิจารณาวันประมูลทีวีดิจิทัลของ บอร์ด กสท.วันจันทร์นี้ คาดว่าจะกำหนดจัดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ โดยกำลังพิจารณา 2 รูปแบบ คือ ประมูล 1 วัน 4 ประเภท ในวันที่ 26 ธ.ค.2556 หรือ ประมูล 2 วัน วันละ 2 ประเภท ในวันที่ 26-27 ธ.ค. ใช้อาคาร กสท บางรัก ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นสถานที่จัดประมูล 80% โดยใช้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. และ กสท โทรคมนาคม ดูแลการประมูลรวม 100 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลอาคาร กสท บางรัก 100 คน ใช้งบประมาณในการจัดประมูล 10 ล้านบาท

 

หลังจาก กสทช.กำหนดวันประมูลทีวีดิจิทัล ผู้เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัลทุกรายจะต้องส่งรายชื่อ “ผู้เข้าร่วมประมูล” ไม่เกิน 5 คน ในแต่ละประเภทที่เข้าประมูลให้ กสทช. ภายใน 7 วัน ก่อนวันประมูล

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค.ที่ผ่านมาก สำนักงาน กสทช.ได้จัดให้ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลทั้ง 29 บริษัท ได้ทดลองซอฟต์แวร์ที่ใช้ประมูล ณ อาคาร กสท บางรัก โดยกำหนดจัดทดลองประมูลเต็มรูปแบบอีกครั้งระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ ก่อนจะประมูลจริงระหว่างวันที่ 26-27 ธ.ค.

 

สำหรับการประมูลทีวีดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง อายุใบอนุญาต 15 ปี ประกอบด้วย ประเภทเอชดี 7 ช่อง มีผู้ยื่นประมูล 9 ซอง วาไรตี้เอสดี 7 ช่อง มีผู้ยื่นประมูล 16 ซอง ข่าว 7 ช่อง มีผู้ยื่นประมูล 10 ซอง และเด็ก 3 ช่อง มีผู้ยื่นประมูล 6 ซอง

 

 

เอกชนพร้อมประมูลปีนี้

แหล่งข่าวผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล กล่าวว่า การจัดประมูลทีวีดิจิทัลก่อนสิ้นปีนี้น่าจะเหมาะสมกว่าปีหน้า เพราะผู้ที่ชนะการประมูลจะมีเวลาเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและออกอากาศช่อง รายการ รวมทั้งแผนธุรกิจและการลงทุนในปีหน้าได้ทันที

 

ทั้งนี้ มองว่ารูปแบบการประมูลแบบวันเดียวจบ หรือ 2 วัน ไม่มีความแตกต่างกัน เพราะเชื่อว่าผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายมีการพร้อมประมูลในทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการประมูลแบบวันเดียวจบจะใช้รูปแบบการประมูลเช่นเดียวกับการทดลอง ประมูล คือแบ่งออกเป็น 4 รอบ รอบละ 3 ชั่วโมง สำหรับการประมูลทีวีดิจิทัล 4 ประเภท คือเวลา 09.00 น. 12.00 น. 15.00 น. และ 18.00 น.

 

ตามประกาศ กสทช. การประมูลทีวีดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจ กำหนดการประมูลประเภทละ 60 นาที โดยช่องเอชดี ราคาเริ่มต้น 1,510 ล้านบาท กำหนดเคาะประมูลครั้งละ 10 ล้านบาท ช่องวาไรตี้เอสดี ราคาเริ่มต้นช่องละ 380 ล้านบาท เคาะประมูลครั้งละ 5 ล้านบาท ช่องข่าว ราคาเริ่มต้นช่องละ 220 ล้านบาท เคาะประมูลครั้งละ 2 ล้านบาท และช่องเด็ก ราคาเริ่มต้นครั้งละ 140 ล้านบาท เคาะประมูลครั้งละ 2 ล้านบาท

 

 

“ทีวีดิจิทัล”จุดเปลี่ยนฟรีทีวี

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า บอร์ด กสท.เตรียมกำหนดวัน เวลา สถานที่ และการเตรียมความพร้อมสำหรับการประมูลทีวีดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจ ในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค.นี้ ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการ เปลี่ยนรูปแบบการถือครองคลื่นความถี่จากระบบสัมปทาน เป็นระบบใบอนุญาต รวมทั้งเป็นจุดเปลี่ยนหน้าจอฟรีทีวี และเนื้อหารายการหลากหลายมากขึ้นที่จะได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้

 

“ถ้าไม่มีอะไรสะดุด กสทช. คงจัดประมูลได้ทันก่อนสิ้นปีนี้ ในปีหน้าจะได้เริ่มศักราชใหม่ของฟรีทีวีประเทศไทย รับกระแสการเลือกตั้งและการปฏิรูปการเมืองไทยที่สื่อต้องมีบทบาทสำคัญในการ ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ มืออาชีพ รับผิดชอบ และมีจรรยาบรรณ” นางสาวสุภิญญา กล่าว

 

 

จับตาทดลองวิทยุดิจิทัล

นอกจากนี้ การประชุมบอร์ด กสท. ยังมีวาระน่าติดตาม ได้แก่ การจัดทำบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานรัฐ และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความสามารถในการติดตั้งเครื่องรับวิทยุในระบบดิ จิทัล ซึ่งในการประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2556 ที่ประชุมเสียงข้างมากได้เห็นชอบหลักการให้ดำเนินโครงการทดลองระบบการรับส่ง สัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล ตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1

 

ทั้งนี้ กสทช.รวม 3 คน ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมและเห็นต่างในบางประเด็นดังกล่าว ซึ่งเห็นว่า “การขออนุมัติตั้งโครงการทดลองทดสอบระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงใน ระบบดิจิทัลเป็นโครงการที่มีงบประมาณสูงถึง 167 ล้านบาท แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในการดำเนินการ ดังนั้น สำนักงาน กสทช.ควรจัดทำโครงการย่อยเสนอเข้าสู่การประชุม กสท. เพื่อพิจารณาต่อไป”

 

นอกจากนี้ การวางแผนเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล เป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่ต้องมีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย และการติดตามตรวจสอบที่จริงจังสำหรับสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ออกอากาศอยู่ ในปัจจุบันด้วย เพราะจากการรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้สะท้อนปัญหาใน ปัจจุบันที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การกำกับดูแลโฆษณาที่ผิดกฎหมาย กระบวนการทดลองประกอบกิจการและการกำกับดูแล การส่งเสริมและสนับสนุนกิจการวิทยุกระจายเสียง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ภายหลังการประมูลทีวีดิจิทัลเสร็จสิ้น ภารกิจหนึ่งของ กสท. ที่สำคัญในปีหน้า คือการเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณวิทยุเป็นระบบดิจิทัล

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 15 ธันวาคม 2556 www.bangkokbiznews.com

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน