ทช.ขึ้นค่าปรับนัมเบอร์พอร์ต1.6 แสน/วัน

กทช. เคาะค่าปรับนัมเบอร์พอร์ตฯ อัตราใหม่วันละ1.6 แสนบาท ขู่ปรับเพิ่ม 2 เท่า คาดว่าหากเปิดในเดือนธ.ค. ค่ายมือถือ 5 ราย จ่ายรายละ 30 ล้านบาท เก็บเงินเข้าคลังได้ 150 ล้านบาท เริ่มปรับจริง 10 ก.ย. นี้ ไล่เอกชนไม่พอใจยื่นอุทธรณ์-ฟ้องศาลปกครองได้ เผยค่าปรับใหม่คำนวณจากฐานลูกค้าที่ต้องย้ายเลขหมายทุกปีเฉลี่ย 1.2 ล้านราย "ส.ว.จี้รัฐจับตาประมูล 3จี"

นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามประกาศกทช. เรื่องให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ทาบิลิตี้) ได้สรุปบทลงโทษใหม่ มีผลต่อโอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 ราย ที่ไม่สามารถเปิดนัมเบอร์พอร์ตฯ ได้ทันกำหนดของ กทช. วันที่ 30 ส.ค. ว่า จะคิดอัตราค่าปรับจำนวน 166,667 บาทต่อวันต่อราย เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คิดค่าปรับรายละ 20,000 บาทต่อวัน คาดว่าจะเริ่มปรับได้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. นี้

ค่าปรับที่คณะกรรมการพิจารณาใหม่ ถือเป็นมติของสำนักงาน กทช. ตามอำนาจสิทธิมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 แต่ได้รายงานค่าปรับใหม่นี้ ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทช. แล้ว โดยการคิดอัตราค่าปรับ ได้พิจารณาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จากกรณีที่มีลูกค้าต้องการย้ายเครือข่ายที่ยื่นคำร้องขอย้ายเครือข่ายปีละ 1.2 ล้านราย เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนราย

คิดตามอัตราค่าเฉลี่ยต่อเลขหมาย
ทั้งนี้ อัตราค่าปรับได้คำนวณจากรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) จำนวน 250 บาท ซึ่งตามสถิติ มีผู้ต้องการขอย้ายเครือข่ายคิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาทต่อเดือนหารด้วยโอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 ราย คิดเป็นรายละ 5 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 166,667 บาท แต่จะคิดค่าปรับเพิ่มเป็น 2 เท่าหากเปิดให้บริการไม่ได้ในเดือนที่ 2 คือ คิดค่าปรับเป็น 320,000 บาท และเดือนที่ 3 คิดค่าปรับเป็น 480,000 บาท

“มาตรการปรับวันละ 166,667 บาท เบื้องต้นใช้ดำเนินการ 30 วัน หากผู้ให้บริการเครือข่ายยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เดือนถัดไปจะคูณค่าปรับเป็นสองเท่า เนื่องจากแต่ละเดือนจะมีผู้บริโภค ขอย้ายเครือข่ายเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดย กทช.จะส่งหนังสือแจ้งค่าปรับไปยัง 5 ผู้ให้บริการเครือข่าย ภายใน 5 วัน คาดว่า จะเริ่มปรับได้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. นี้ โดยเงินที่ได้จากค่าปรับดังกล่าว กทช.จะนำส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเอกชนสามารถยื่นอุทธรณ์ หรือดำเนินการฟ้องศาลได้”

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า หากคิดราคาการกำหนดโทษปรับเบื้องต้น โอเปอเรเตอร์ที่เคยระบุว่าจะเปิดได้ภายในปีนี้ คิดอีก 3 เดือน จะทำให้โอเปอเรเตอร์แต่ละราย เสียค่าปรับประมาณ 30 ล้านบาทต่อราย รวม 5 ราย ราว 150 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กทช. ได้ส่งหนังสือคำสั่งการปกครองไปยังโอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 ราย ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนัมเบอร์พอร์ตฯ และโอเปอเรเตอร์ได้หารือกันอย่างต่อเนื่อง แต่เอกชนยืนยันว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2553

เอไอเอสยอมโดนปรับ 2-3 เดือน
นายปรีย์มน ปิ่นสกุล ประธานกรรมการ บริษัทศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด (เคลียริ่งเฮ้าส์) กล่าวว่า มาตรการที่ กทช.คิดค่าปรับโอเปอเรเตอร์วันละ 166,667 บาท คิดจากจำนวนผู้ยื่นคำร้องขอย้ายเครือข่ายต่อปี คูณรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน จำนวน 250 บาท คิดว่าตัวเลขที่นำมาคำนวณไม่ถูกต้อง ซึ่งควรใช้ตัวเลขผู้ยื่นคำร้องขอโอนย้ายเลขหมายตั้งแต่ 1 ก.ย. 2553 ไม่ใช่เก็บสถิติย้อนหลัง

ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน ไม่สามารถนำมาคิดรวมกันได้ ต้องดูปริมาณเงินของแต่ละบริษัทซึ่งต่างกัน ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการเครือข่ายแต่ละรายยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งค่าปรับ ส่วนแต่ละรายจะดำเนินการอย่างไรต้องหารือกันในบริษัท

นายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เอไอเอสไม่สามารถเปิดบริการนัมเบอร์พอร์ตฯ ได้ทัน เพราะระบบส่วนของเคลียริ่งเฮ้าส์ยังไม่พร้อม หากฝืนเปิดให้บริการก็จะเป็นปัญหากับลูกค้า ที่จะส่งผลต่อบริษัทต่อ ดังนั้น ก็คงต้องยอมโดนปรับต่อไปอีกประมาณอีก 2-3 เดือน ถึงจะเปิดให้บริการได้

ทั้งนี้ โอเปอเรเตอร์ 5 ราย ประกอบด้วย เอไอเอส บริษัท ทรูมูฟ จำกัด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ให้บริการทั้ง 5 ราย แถลงข่าวจะสามารถเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายได้เดือนธ.ค. นี้

ส.ว.จี้รัฐจับตาประมูล3จี
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2554 ว่า เขาจะผ่านงบประมาณให้ แต่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีช่วยดูแลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงาน ต่างๆ

นอกจากนั้นแล้วในส่วนของการประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่น) 3จี ที่กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดให้โอเปอเรเตอร์ที่สนใจแสดงความจำนงร่วมประมูล ตนไม่แน่ในว่าทำไมกทช. ถึงรีบร้อนเปิดประมูล ทั้งที่พระราชบัญญัติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ (กสทช.) อยู่ในวาระการประชุมสภาและคาดว่าจะผ่านร่างดังกล่าวเร็วๆ นี้ ในอนาคตคณะกรรมการ กทช.ที่เปิดประมูลดังกล่าวจะถูกฟ้องร้องคดีแน่

ก่อนหน้านี้ทางหน่วยงานได้โรดโชว์เรื่องดัง กล่าว ในต่างประเทศมากมาย โดยใช้งบประมาณไปเกือบ 20 ล้าน บาท แต่พอเปิดให้ประมูลกลับไม่มีบริษัทต่างชาติรายใดสนใจ ซึ่งตนมีข้อมูลว่าการประมูลดังกล่าว มีการล็อกสเปคกันเกิดขึ้น โดยมีกรรมการ กทช. รายหนึ่งได้ขออนุญาต กรรมการให้เปิดประมูล 3จี โดยมีการนำกฎหมายห้ามบริษัทที่มีผู้บริหารเป็นคนต่างด้าวเข้าร่วม เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไปจึงไม่มีบริษัทที่เกี่ยวข้องรายใดเข้าร่วม

“ส่วนการยื่นความจำนงมีผู้ประกอบการ 4 รายเข้ายื่น โดย 3 รายเป็นรายใหญ่ อีก 1 รายไม่ได้ประกอบการด้านการสื่อสาร ซึ่งรายที่ 4 นั้นเป็นเพียงนอมินีของบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 ราย ที่นำเงินลงขันให้บริษัทรายที่ 4 เข้าร่วมด้วย แต่ด้วยความกังวลว่าจะถูกโกง จึงวางแผนล้มบริษัทรายที่ 4 ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าฮั้วกันหรือไม่” นายสมชาย กล่าว

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 7 ก.ย.53

พิมพ์ อีเมล