ไอซีทีสั่งทีโอทีทบทวนลงทุน3จีเล็งชง ครม.7ก.ย.เอื้อบริษัทไทยร่วมด้วย

ไอซีทีเตรียมชง ครม.ทบทวนการประมูลโครงการลงทุน 3 จี ของทีโอทีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาทใหม่ 7 ก.ย.นี้ เล็งเอื้อให้บริษัทไทยเข้าร่วมลงทุนกับต่างชาติด้วย หลังพบที่ผ่านมามีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่คว้าไปกิน พร้อมเจรจาเอไอเอสลดการลงทุนซ้ำซ้อน

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการประมูลงานลงทุนก่อสร้างโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3 จี จึงสั่งการให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทบทวนวิธีการประมูลโครงการลงทุนสร้างโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3 จี มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาทใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัทของไทยไม่ ใช่ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพียงอย่างเดียว เพื่อส่งเสริมให้บริษัทคนไทยได้มีโอกาสเติบโตในการก่อสร้างโครงข่ายโทร คมนาคมด้วย คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้วันที่ 7 กันยายนนี้

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมานายจุติได้สั่งให้บริษัททีโอทีทบทวนการ ประมูลโครงการ 3 จี ของทีโอทีหลายครั้ง เพราะต้องการเปิดกว้างให้บริษัทคนไทยและต่างชาติเป็นพันธมิตรในการดำเนิน โครงการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของไทย เนื่องจากวิธีการเดิมไม่ได้เปิดโอกาสให้บริษัทคนไทยเข้าร่วมประมูลด้วย เพราะเน้นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งบริษัทในไทย หัวเว่ย แซดทีอี จากจีน โนเกีย-ซีเมนส์ อัลคาเทลลูเซ่นส์ อีริคสัน จากยุโรป

ทั้งนี้ ทีโอทีได้วางแผนที่จะลงทุนก่อสร้างสถานีฐานและติดตั้งอุปกรณ์ประมาณ 5,500 สถานีฐาน เพื่อให้บริการ 3 จีสามารถทำได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะเดียวกันจะเจรจากับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อขอร่วมใช้สถานีฐานของเอไอเอสที่มีอยู่ทั่วประเทศ เนื่องจากเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอีก 5 ปีข้างหน้า เอไอเอสก็ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้ทีโอที เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และประหยัดงบประมาณการลงทุนได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากบอร์ดมองว่าที่ผ่านมาทีโอทีลงทุนไม่คุ้มค่า

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ "บริการ 3 จี และคงสิทธิเลขหมาย" ระบุว่า ความชัดเจนของการเปิดประมูล 3 จี น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยปี 2553 คาดว่าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 6.8% จากที่เติบโตเพียง 1.0% ในปี 2552 สำหรับบริการคงสิทธิเลขหมายนั้น ในระยะสั้นคาดว่า ปัจจัยค่าธรรมเนียมการโอนย้ายอาจจะเป็นแรงกดดันผู้บริโภคในการตัดสินใจใช้ บริการคงสิทธิเลขหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน ในระยะยาวเมื่อการแข่งขันในบริการ 3 จีรุนแรงขึ้น มองว่าแรงกดดันค่าธรรมเนียมการโอนย้ายจะผ่อนคลายลงจากการที่ผู้ให้บริการอาจ นำประเด็นการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนย้ายมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดใน การจูงใจผู้บริโภค

นสพ.คมชัดลึก วันที่ 7 กันยายน 2553


พิมพ์ อีเมล