3 เคล็ดลับ เดินทางปลอดภัย

580612 carในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง หลายคนมักใช้โอกาสนี้เดินทางไปท่องเที่ยว หรือเยี่ยมญาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ แต่การเดินทางด้วยวิธีดังกล่าวมักเกิดอุบัติเหตุ สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินบ่อยครั้ง และนี่เป็นวิธีปฏิบัติง่าย ๆ สำหรับที่ต้องการเดินทางให้ปลอดภัย และมั่นใจว่าจะถึงจุดหมายปลายทางอย่างสวัสดิภาพแน่นอน

เคล็ดลับที่ 1 ซื้อตั๋วอย่างไรให้ปลอดภัย

- การเลือกซื้อตั๋วโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้ คือ มีชื่อบริษัทปรากฎที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ตั๋วโดยสาร บริเวณตัวรถ โดยดูว่ามีตราสัญลักษณ์ประทับข้างรถว่าเป็นรถร่วมของ บขส. หรือ รถที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยง การถูกล่อลวงให้ใช้บริการของรถโดยสารที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก บขส. ซึ่งถือเป็นรถโดยสารผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า "รถผี รถเถื่อน" นั่นเอง

- ต้องได้รับตั๋วโดยสารหลังจ่ายเงินทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบทันทีว่าข้อมูลการเดินทางถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามประกอบด้วย วันเวลาที่เดินทาง ราคาตั๋วโดยสาร ตำแหน่งที่นั่ง เลขข้างรถ ประเภทของรถโดยสาร หากระบุไม่ตรงให้รีบทักท้วงแก้ไขโดยทันที

เคล็ดลับที่ 2 ทำอย่างไรจึงปลอดภัยก่อนเดินทาง

- ต้องมาถึงสถานีขนส่ง ก่อนเวลารถออกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบว่า รถโดยสารที่จะใช้บริการถูกต้อง ตรงตามต้องการหรือไม่ เช่น สภาพของรถโดยสารเก่าทรุดโทรมไม่เหมาะต่อการเดินทาง หรือซื้อตั๋วรถโดยสารชั้นเดียวแต่ทางผู้ให้บริการจัดเป็นรถสองชั้น รถบริการเสริมลายการ์ตูน หรือรถตู้โดยสารให้แทน ผู้โดยสารต้องปฏิเสธโดยทันที และขอให้ปรับเปลี่ยนจัดรถที่ถูกต้องตรงตามสัญญา หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ผู้โดยสารติดต่อที่ หน่วยคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถสาธารณะซึ่งจะให้บริการภายในสถานีขนส่งแต่ละแห่ง หากไม่มี ให้โทรติดต่อที่หมายเลข 1584 เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา

- ผู้โดยสารต้องขึ้นรถในบริเวณสถานีขนส่งเท่านั้น ห้ามขึ้นรถในบริเวณภายนอกสถานีขนส่ง หากได้รับการชักชวน หรือเชิญชวนจากพนักงานบริการ ให้สอบถามเหตุผลว่าเพราะอะไรจึงไม่จอดในสถานี เพราะหากท่านหลงเชื่ออาจจะกลายเป็นเหยื่อของ "รถผี รถเถื่อน"

- ก่อนขึ้นรถให้ตรวจสอบข้อมูลของรถโดยสารเพื่อประโยชน์ของท่าน คือ ป้ายทะเบียนรถ รถโดยสารประจำทางจะต้องมีป้ายสีเหลือง ตัวอักษรสีดำ เลขตัวหน้าจะขึ้นต้นด้วยหมวดเลข 10-19 หากเป็นรถโดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง จะขึ้นด้วย หมวดเลข 30-39 แต่ถ้าเป็นป้ายสีขาว ให้สันนิษฐานว่าเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนเป็นรถส่วนบุคคลซึ่งผู้โดยสารจะมีความเสี่ยงมากกว่าในการใช้เพื่อโดยสาร เลขข้างรถ จะบ่งบอกถึงเส้นทางการเดินรถของผู้ประกอบการ เราสามารถสอบกลับได้หากเกิดเหตุ เพราะเลขข้างรถจะไม่ซ้ำกันในแต่ละคัน รวมทั้ง ชื่อ-นามสกุล ของพนักงานขับรถ, ช่วงเวลาของการเดินทาง

- ภายในรถต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วน เช่น เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจกอุปกรณ์ดับเพลิง และประกันภัย

เคล็ดลับที่ 3 ระหว่างเดินทางต้องปลอดภัย

- ต้องนำรถออกจากสถานีเดินรถตามเวลาที่กำหนดให้ หรือตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ประจำอยู่ ณ สถานีนั้น ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร

- ไม่รับบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศ ต้องไม่มีผู้โดยสารยืนโดยเด็ดขาด

- พนักงานขับรถต้องขับรถติดต่อกันไม่เกินสี่ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน

- ต้องขับรถตามเส้นทางที่กำหนดไว้ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย โดยต้องหยุดหรือจอดรถตามที่กำหนดไว้ตามตารางการเดินรถ ไม่ทอดทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง หรือผิดไปจากจุดจอดที่ระบุในตั๋วโดยสาร

- ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง รถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถประจำทางปรับอากาศที่เดินทางระหว่างจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ควรจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยแก่ผู้โดยสารทุกที่นั่ง และควรให้พนักงานประจำรถแนะนำผู้โดยสารให้ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกคน การที่ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยหากรถเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี

- ผู้โดยสารต้องสังเกตสัญญาณง่วงของพนักงานขับรถ เช่น เหยียบเบรกโดยไม่มีเหตุผล หาวบ่อยๆ ต้องให้หยุดขับรถและพัก เพราะหากหลับในเพียง 3-4 วินาที ขณะที่ความเร็วรถ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่ากับรถวิ่งไปโดยไม่มีผู้ควบคุมซึ่งเป็นอันตรายมาก

เชื่อว่าหากผู้โดยสารนำ 3 เคล็ดลับที่เรานำมาบอกกล่าวนี้ไปใช้ การเดินทางของท่านในช่วงวันหยุดยาวจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย หายห่วงแน่นอน.....

พิมพ์ อีเมล