ศาลพิพากษาบิ๊กซีจ่ายให้ผู้บริโภคตกร่องน้ำอีก 20,000 บาท

21 ก.ย. 54 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 605 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ บริษัท บิ๊กซี ซูปเปอร์ เซ็นเตอร์ จำกัด มหาชน ชำระค่าขาดรายได้ให้ผู้บริโภค 20,000 บาท นอกจากนี้แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จากกรณีที่นางจุฬา สุดบรรทัด นักพัฒนาเอกชนอิสระ เดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลำปาง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก แต่ห้างบิ๊กซีฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบนั้น

ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

ภายหลัง คดีสิ้นสุดในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ ซึ่งนางจุฬาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลในประเด็นเรื่องค่าขาดรายได้จากการไม่ สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลอุทธรณ์ และห้างบิ๊กซีฯ ได้ขอใช้สิทธิทุเลาการบังคับคดีเพื่อไม่ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำ พิพากษาศาลชั้นต้น โดยศาลมีคำสั่งให้ห้างบิ๊กซีฯ นำหลักทรัพย์มาวางประกันในชั้นทุเลาบังคับคดี แต่ห้างบิ๊กซีฯ ไม่ยอมปฏิบัติตาม ดังนั้นศาล จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาบังคับคดี ทำให้นางจุฬา มีสิทธิตามกฎหมายที่สามารถยึดทรัพย์บังคับคดีลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้

จากนั้นวันที่ 15 ธันวาคม 2552 นางจุฬา พร้อมเจ้าหน้าที่บังคับคดี ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค และศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เดินทางไปยังห้างบิ๊กซีฯ สาขาใหญ่ ถนนราชดำริ เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์บังคับคดีลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงิน 405,808.50 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5% หลังจากที่ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบ และ ชดเชยค่าเสียหายแก่นางจุฬา

ภายหลังการตกลงไกล่เกลี่ย ทางห้างบิ๊กซีฯ ยอมจ่ายค่าเสียหายเป็นเช็คเงินสดจำนวน 570,000 บาท อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังคงอยู่ในศาลชั้นอุทธรณ์เพื่อรอคำพิพากษา

วันที่ 21 กันยายน 2554 ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วมีประเด็นต้องวินิจฉัยประเด็น อุทธรณ์ของจำเลย ในส่วนค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่แม้โจทก์จะมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากส่วนราชการได้ ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอากับจำเลยระงับ ไป จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ และประเด็นค่าเสียหายในอนาคต ที่โจทก์ต้องเข้ารับการผ่าตัดจริง ซึ่งศาลเห็นว่า การอุทธรณ์ของจำเลยไม่มีเหตุผลเพียงพอ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนประเด็นอุทธรณ์ของนางจุฬา เรื่องค่าขาดรายได้ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายให้นั้น จากพยานหลักฐานอ้างอิงการนำสืบ เห็นว่าการที่โจทก์ได้รับเชิญไปประชุมในแต่ละครั้ง แม้จะไม่สม่ำเสมอ แต่ต้องถือว่าเป็นรายได้ของโจทก์ที่เคยได้รับก่อนเกิดเหตุ ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์จึงไม่ต้องด้วยความเห็น ของศาลอุทธรณ์ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลย (บริษัท บิ๊กซี ซูปเปอร์ เซ็นเตอร์ จำกัด มหาชน) ชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้โจทก์เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท นอกจากนี้แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

นางจุฬา กล่าวว่าวันนี้ตนถือว่า ศาลอุทธรณ์ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับตนเอง และผู้บริโภคอีกจำนวนมาก ในการที่คิดจะลุกขึ้นมาใช้สิทธิที่ แม้จะต้องแลกด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งตนเองยืนยันว่าประเด็นสำคัญของการใช้สิทธิทางกฎหมายต่อห้างบิ๊กซีฯใน ครั้งนี้ คือเรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้สังคมได้รับรู้ในสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าในฐานะผู้ประกอบการกระทำต่อผู้ บริโภค เพื่อเรียกร้องมาตรฐานการให้บริการจากผู้ประกอบการ และให้สังคมได้เห็นความเปลี่ยนแปลง

พิมพ์ อีเมล