ลดเค็ม ยืดอายุ

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 5610

เค็ม เค็ม ใครที่รับประทานอาหารรสเค็มจัดต้องระวัง เพราะนั่นเป็นสาสาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เพื่อความปลอดภัย เรามาร่วมมือกันลดการกินเค็มกันนะคะ 

การกินอาหารรสเค็ม นอกจากจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอีกด้วย นั่นเพราะเกลือจะไปลดประสิทธิภาพของยาลดความดันโลหิต และยังมีผลต่อการทำงานของหัวใจและไตด้วย

ที่สำคัญก็คือเราบริโภคอาหารเค็มเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้ตัว นั่นก็เพราะว่าอาหารปรุงสำเร็จแต่ละชนิดมักจะมีเกลือเป็นส่วนประกอบอยู่มากเกินที่เรา ควรรับประทาน ในขณะที่เราควรบริโภคเกลือเพียงวันละ 1 ช้อนชา หรือไม่เกิน 6 กรัมเท่านั้น
การวัดปริมาณเกลือที่เรากิจนั้นทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ได้ผลเป็นที่น่าเชื่อถือ คือ การเก็บปัสสาวะมาตรวจ พบว่าเราบริโภคเกลือเฉลี่ยสูงถึง 9 กรัมต่อวันทีเดียว ซึ่งนั่นอาจก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและผลเสียอื่นๆ ตามมาในระยะยาวตามมาด้วย

ดังนั้น เราควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด เช่น กะปิ ปลาเค็ม ไข่เค็ม อาหารสำเร็จรูปที่มีเกลือมาก ค่อยๆ ลด และพยายามเลิกการเติมน้ำปลา ซีอิ๊ว และซอสปรุงรสต่างๆ ในอาหาร รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลสูง เช่น เนย กะทิ ไข่แดง หนังสัตว์ เครื่องในสัตว์ หอยนางรม กุ้ง ปลาหมึก อาหารประเภททอดทั้งหลาย รวมถึงเฟรนช์ฟรายด้วยนะคะ

นิตยสารฉลาดซื้อเก็บตัวอย่าง เฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ จากร้านอาหารจานด่วน ทดสอบปริมาณเกลือเมื่อเดือนมีนาคม 2553 นั้นทั้ง 6 ตัวอย่างของเฟรนช์ฟรายที่ทดสอบ มีปริมาณเกลือในระดับที่สูง มีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 1.48 กรัม/100 กรัม เทียบน้ำหนักต่อห่อของเฟรนช์ฟรายจะพบว่า 1 ห่อมีน้ำหนักอยู่ที่ 150 – 200 กรัม ซึ่งหากใช้ปริมาณเฉลี่ยที่ตรวจพบเป็นฐานคิดจะพบว่าในการบริโภคเฟรนช์ฟราย 1 ห่อจะได้รับเกลือเข้าร่างกายประมาณ 2.2 กรัม – 2-9 กรัม/หน่วยบริโภค ซึ่งเกือบจะเทียบเท่าหรือสูงกว่าปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทย(Thai RDI) เลยทีเดียวคะ  และในทางกลับกันเราควรเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้สดค่ะ

เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ใหญ่ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใดๆ ดังนั้น การที่เราสบายดีจึงมิได้หมายความว่าเราไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ในคนปกติความดันโลหิตควรมีค่าน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท และควรวัดอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 นาที แล้วใช้ค่าเฉลี่ยรายงานผล

โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ควบคุมได้ด้วยยาลดความดันโลหิต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอัมพาต ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ และไตวายเรื้อรัง ร่วมกับการแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ลดการกินเค็ม ซึ่งจะมีผลช่วยลดความดันโลหิตเสริมจากการใช้ยาค่ะ


อ้างอิงข้อมูลจาก ผศ.พญ. วีรนุช รอบสันติสุข ภาควิชาอายุรศาสตร์
นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 114 ประจำเดือนสิงหาคม 2553

พิมพ์