“เศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อไหร่จึงจะพอ?

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติได้จัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็น “แผนพัฒนาภาคใต้” โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมทั้งในทางภาคใต้และส่วนกลางรวมกันประมาณ 30 คน

ผมขอเท้าความสักนิดว่าทำไมจึงได้มีการคุยกันในประเด็นนี้ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองแล้ว เรื่องของเรื่องก็คือว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2552” ซึ่งเป็นกระบวนการรับฟังและเสนอแนะความคิดเห็นระดับชาติในประเด็นที่อาจมีผล กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ได้มีมติให้ทบทวนกระบวนการพัฒนาภาคใต้ทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเมกะ โปรเจกต์อันได้แก่ โรงไฟฟ้า 3-4 โรง ทั้งถ่านหินและนิวเคลียร์ นิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือน้ำลึกสงขลา-สตูล เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วได้มีมติครม.เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของราชการและเอกชนต่างก็เดินหน้าโครงการต่อไป ไม่หยุดหย่อน จึงสร้างความขัดแย้งในพื้นที่โครงการเกือบทุกจังหวัด ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนถึงสตูล

ในที่ประชุมดังกล่าวรองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำเสนอถึงความจำเป็นของการใช้ไฟฟ้าทั้งภาพรวมของประเทศและรายจังหวัดของ ภาคใต้ทั้งหมด โดยมีข้อมูลชัดเจนว่าการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3% โดยสรุปภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่เพิ่งผ่านมติ ครม. เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ในแผนนี้คาดว่าในอีกประมาณ 20 ข้างหน้าการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยจะเพิ่มจาก 32,395 เมกะวัตต์ในปี 2554 ไปเป็น 70,686 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นเป็น 220% ของปัจจุบัน (ดูกราฟทางซ้ายมือประกอบ)

การเพิ่มขึ้นถึง 220% นั้นเป็นภาพรวมของการใช้ไฟฟ้าในทุกภาคของเศรษฐกิจ แต่ถ้ากล่าวถึงเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว พบว่า จะมีการเพิ่มขึ้นถึงกว่า 3 เท่าตัว ในขณะที่ภาคครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียว (จริงๆ)

ผมได้เรียนต่อที่ประชุมว่า ในรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังอ่านคำวินิจฉัยอยู่นี้ได้มีคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “สมดุล” อยู่อย่างน้อยคำละสองที่ ถ้าทางการไฟฟ้าคาดหมายว่าการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างที่กล่าวมาแล้ว คำถามก็คือว่า “เมื่อไหร่จึงจะรู้จักพอ” และ หากภาคอุตสาหกรรมโตเอาโตเอาไปถึง 3 เท่าตัว ความสมดุลมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อภาคอุตสาหกรรมต้องใช้น้ำจืดและปล่อยน้ำเสียจำนวนมาก ย่อมจะทำให้ภาคการเกษตรมีปัญหา นี่ยังไม่นับถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก

เพื่อความชัดเจนผมได้ฉายภาพการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศเยอรมนี (ภาพขวามือ) พบว่าอีกประมาณ 8 ปีข้างหน้า นอกจากจะไม่เพิ่มขึ้นแล้วยังกลับลดลงเสียอีก นี่คือ “การรู้จักพอ” ผมเสริมข้อมูลต่อไปว่า ขณะนี้สินค้าออกที่มีมูลค่าอันดับหนึ่งและสองของไทยก็คือรถยนต์และ คอมพิวเตอร์ คำถามก็คือว่ามีรถยนต์หรือคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเป็นของคนไทยบ้างไหม?

ปัจจุบันประเทศไทยผลิตรถยนต์ทั้งส่งออกและใช้เองคิดเป็น 12% ของรายได้ประชาชาติ ถ้ารวมมูลค่าของการผลิตรถยนต์และคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันก็น่าจะเกือบถึง 20% ของรายได้ประชาชาติ หากเศรษฐกิจโลกมีปัญหา(ซึ่งก็กำลังมีอยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะในยุโรป) ประเทศไทยที่ได้แค่ค่าแรงงานก็จะมีปัญหาตามไปด้วย

ทิศทางการพัฒนาประเทศของเราควรมาเน้นที่การสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่าคิดแต่จะเติบโตด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หลักการสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 องค์ประกอบ คือ (1) พอประมาณ (2) มีเหตุผล และ (3) มีภูมิคุ้มกันในตัว

ถ้าเปรียบการพัฒนาประเทศไทยเหมือนกับการเติบโตของเด็กหรือของลูกเรา ถ้าลูกเราเอาแต่โต เอาแต่สูง (2 เมตรกว่าแล้วก็ยังไม่หยุด) โดยไม่มีการพัฒนาทางด้านอารมณ์ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสิ่งยั่วยวนฝ่ายต่ำ ฯลฯ เราจะรู้สึกดีใจหรือวิตกกังวลกันแน่

กลับมาที่การใช้ไฟฟ้าอีกทีครับ นอกจากประเทศเยอรมนีได้ “รู้จักพอ” แล้ว เขายังมีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน (ซึ่งหาได้ภายในประเทศ) เพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 47% ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้โลกประสบภัยพิบัติ แล้ว ยังเป็นการสร้างงานจำนวนมากและลดความเหลื่อมล้ำซึ่งประเทศเรากำลังมีปัญหารุนแรงที่สุดในทวีปเอเชีย

ถึงเวลาที่เราควรจะรู้จัก “พอเพียง” ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติได้แล้วครับประเทศไทย เราได้ถลำเลยจุดสมดุลมามากแล้ว อันตรายมากครับ!

 

โดย ประสาท มีแต้ม 15 กรกฎาคม 2555 17:05 น.

พิมพ์ อีเมล