อย.เผยยาลดอ้วนไร้มาตรฐานยอดพุ่ง

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 6658

อย.จับมือ สสส.เผยสถิติตรวจจับ "โฆษณาผลิตภัณฑ์ลดอ้วนไร้มาตรฐานปี 2552" ยอดพุ่งเท่าตัว อาหารเสริมลดน้ำหนัก กาแฟลดอ้วนติดชาร์ทท็อปฮิต พร้อมเปิดตัวเสวนาระดับโลกยกระดับการแพทย์ไทย เป็นศูนย์กลางวิชาการรักษาโรคอ้วน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์การอาหารและยา (อย.) และเครือข่ายคนไทยไร้พุงเผยสถิติตรวจจับ "โฆษณาผลิตภัณฑ์ลดอ้วนไร้มาตรฐานปี 2552" เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการลดความอ้วนสำหรับประชาชน และแนวทางการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคลินิกลดน้ำหนัก พร้อมกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคอ้วน และการเข้าใจผิดถึงวิธีการลดความอ้วนด้วยอาหารเสริม หรือเครื่องมือที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนให้ความสำคัญกับการควบคุมน้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคเรื้อรังต่างๆ ทำให้มีการโฆษณาเพื่อขายผลิตภัณฑ์หรืออาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนักอย่างมาก แม้ทาง อย.จะควบคุมในส่วนยาหลักประเภทวัตถุออกฤทธิ์ทางประสาทประเภท 2 ให้มีการบริโภคลดลงอย่างต่อเนื่องจากจำนวนกว่า 40 ล้านเม็ดในปี 2545 เหลือเพียง 9.9 ล้านเม็ดในปี 2552 และมีมูลค่าการใช้ยาลดลงจาก 33,420,523 ล้านบาทในปี 2550 เหลือ 26,372,892 ล้านบาทในปี 2552 แต่กลายเป็นว่า อุตสาหกรรมอาหารเสริมที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ได้ขอรับอนุญาตการโฆษณาจากทาง อย.กลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการจำหน่ายอาหารเสริมผ่านทางไปรษณีย์และทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งพบว่า มีการตรวจจับคดี "โฆษณาสรรพคุณเกินจริง" จากเดิม 160 คดีในปี 2551 เป็น 237 คดีในปี 2552

อาหารเสริมลดอ้วนยอดฮิตที่โฆษณาเกินจริงนั้น มักจะอยู่ในรูปแบบของอาหารเสริม สมุนไพร กาแฟลดน้ำหนัก นอกจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้แล้วยังมีเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์อีก หลายชนิดที่ที่อวดอ้างว่าสามารถลดน้ำหนักได้ แต่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าสามารถลดน้ำหนักได้จริง กระจายอยู่ตามคลินิกและศูนย์ลดน้ำหนักต่างๆ อาทิเช่น การใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency) เครื่องเลเซอร์ (LASER) เครื่องอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อลดน้ำหนัก เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลและเสียเงินจำนวนมากแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ด้าน ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในปัจจุบันวิธีการ และเทคนิคการลดน้ำหนักพัฒนาไปอย่างมาก เพื่อให้แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยสามารถติดตามเทคโนโลยี หรือวิธีการลดน้ำหนักได้ทันทางกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันฝึกอบรมแพทย์ต่างๆ และ สสส.จึงจัดการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ "Obesity Summit Thailand 2010" ขึ้น ระหว่างวันที่ 4-6 ก.พ. 2553 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในด้านวิชาการ การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะอ้วนและอ้วนลงพุงที่ถูกต้อง


นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 24/12/52

พิมพ์