ข่าว/บทความรถโดยสาร

ดีเดย์ 5 เม.ย.ต้องรัดเข็มขัดในรถฝ่าฝืนปรับ 500-1,000 บาท

pic bell

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม เวลา 15.30 น. ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดแถลงข่าว โดยมี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าว พร้อมผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกฉบับแก้ไข ได้แก่ พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สมชาย เกาสำราญ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ต.อ.ทินกร ณัฏฐมั่งคั่ง รองผู้บังคับการตำรวจจราจร และนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อชี้แจงรายละเอียดใน ม.44 ฉบับที่ 14/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

พล.ต.ท.วิทยากล่าวว่า ม.44 ที่ออกมาจะมีเรื่องของการห้ามจอดรถใน

ที่ห้ามจอดด้วย ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเวลาไปกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการ รวมถึงค่าปรับต่างๆ ก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการจับปรับอย่างจริงจังต่อไป ส่วนเรื่องของการบังคับให้คนขับ รวมถึงผู้โดยสารรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารสาธารณะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยนั้น ในระหว่างวันที่ 21 มีนาคม-4 เมษายน 2560 ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ออกมา หากพบเห็นผู้กระทำความผิดทางเจ้าหน้าที่พบเห็นจะเป็นการแจ้งเตือนก่อน ยังไม่มีการจับปรับตามกฎหมาย แต่ในวันที่ 5 เมษายนเป็นต้นไป จะไม่มีการแจ้งเตือนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก เพราะจะดำเนินการจับปรับตามกฎหมายทันที เพราะถือว่าได้มีการแจ้งเตือนไปแล้ว

“เรื่องนี้ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนน” พล.ต.ท.วิทยากล่าว และว่า สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ รถตู้ หรือรถทัวร์ จะต้องแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยก่อนรถออก หรือต้องติดป้ายแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง หากระหว่างการเดินทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเจอคนในรถไม่คาดเข็มขัดจะเรียกปรับทั้งคนขับและผู้โดยสาร เว้นแต่คนขับยืนยันว่าได้แจ้งต่อผู้โดยสารให้คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ผู้โดยสารไม่ปฏิบัติก็จะปรับเฉพาะผู้โดยสาร ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้ดุลพินิจโดยดูที่เจตนาเป็นหลัก

พล.ต.ท.วิทยากล่าวว่า กรณีรถโดยสารสองแถว และรถสามล้อเครื่อง (ตุ๊กตุ๊ก) จะไม่มีการบังคับให้รัดเข็มขัด แต่จะมีมาตรการอื่นออกมาบังคับใช้เพื่อความปลอดภัยแทน เช่น การติดตั้งราวกั้นเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัย และการบังคับลดความเร็ว เป็นต้น

“จากสถิติในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ที่ยังไม่ไปชำระค่าปรับตามใบสั่งประมาณ 7 แสนราย โดยความผิดที่พบมากที่สุด คือขับรถเร็วประมาณ 86% รองลงมาเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจรจาจร เช่น แซงเส้นทึบ เป็นต้น ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายในครั้งนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อยากได้เงิน แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัย” พล.ต.ท.วิทยากล่าว

ด้านนายสนิทกล่าวว่า สำหรับอัตราค่าปรับของผู้ที่ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย หากเป็นไปตามกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการจะต้องถูกปรับ 5 หมื่นบาท คนขับและผู้โดยสารปรับ 5 พันบาท แต่หากเป็นกฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบ รถโดยสารสาธารณะจะถูกปรับ 1 พันบาท ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลปรับ 500 บาท

นายสนิทกล่าวว่า ส่วนรถตู้โดยสารสาธารณะจะต้องปรับที่นั่งรถรถตู้ให้เหลือ 13 ที่นั่ง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเคลื่อนตัวออกจากตัวรถได้ง่ายหากเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะส่งผลดีในเรื่องของความปลอดภัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียดว่าจะเอาที่นั่งตรงไหนออกไปบ้าง จากนั้นภายในวันที่ 5 เมษายนนี้ จะกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมาเพื่อให้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันนำไปปรับปรุงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

นายสนิทกล่าวว่า ในส่วนของการคาดเข็มขัดนิรภัยนั้นมีประกาศกรมการขนส่งทางบกเรื่องการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยและตำแหน่งที่นั่งเพื่อกำหนดคุณสมบัติและการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2555 กำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคคล รถแท็กซี่ และรถที่ใช้รับส่งจากสนามบิน (รถลิมูซีน) ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531-วันที่ 31 ธันวาคม 2553 จะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยสำหรับที่นั่งของคนขับและที่นั่งตอนหน้ารถ ส่วนรถที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป กำหนดให้ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และสำหรับรถตู้ส่วนบุคคล รถปิกอัพ และรถสองแถว ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 กำหนดให้ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งของผู้ขับรถและที่นั่งตอนหน้า

นายสนิทกล่าวว่า ทั้งนี้รถตู้ส่วนบุคคลที่ผลิตหรือนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง สำหรับรถสี่ล้อเล็กรับจ้างที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 กำหนดให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเฉพาะที่นั่งด้านหน้าของคนขับและผู้โดยสาร โดยรูปแบบของเข็มขัดนิรภัยที่ต้องติดตั้งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบรัดหน้าตักและรั้งพาดไหล่ ใช้สำหรับตำแหน่งที่นั่งผู้ขับรถ ที่นั่งตอนเดียวกับผู้ขับรถและที่นั่งตอนหลังผู้ขับรถริมสุด ส่วนที่นั่งระหว่างกลางเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบรัดหน้าตัก (แบบคาดเอว)

นายสนิทกล่าวว่า สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัย พ.ศ.2555 กำหนดให้รถบรรทุกทุกประเภทที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 จะต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยสำหรับที่นั่งของคนขับและที่นั่งตอนหน้ารถ ส่วนรถตู้โดยสารที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ทุกคัน และในทุกเส้นทาง สำหรับรถโดยสารที่วิ่งระหว่างกรุงเทพมหานครไปต่างจังหวัด (หมวด 2) และที่วิ่งระหว่างจังหวัด (หมวด 3) ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 กำหนดให้ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ทุกคัน ซึ่งหากเป็นรถขนาดเล็กที่วิ่งภายในจังหวัด และจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 เป็นต้นไป ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยส่วนที่นั่งด้านหน้าของคนขับและที่นั่งตอนหน้าคู่คนขับ โดยกำหนดให้ที่นั่งของผู้ขับรถและที่นั่งตอนเดียวกับผู้ขับรถ ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบรัดหน้าตักและรั้งพาดไหล่ ส่วนที่นั่งตรงกลางและที่นั่งตอนหลังผู้ขับรถทุกที่นั่งต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบรัดหน้าตัก (แบบคาดเอว)

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ระหว่างนี้ทางเจ้าหน้าที่จะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการคาดเข็มขัดนิรภัย ก่อนจะจับปรับจริงในวันที่ 5 เมษายนนี้ ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีเข็มขัดนิรภัย ผู้โดยสารทุกคนต้องรัดเข็มขัดด้วย ส่วนรถกระบะจะห้ามไม่ให้นั่งด้านหลัง จะให้นั่งเฉพาะห้องโดยสารเท่านั้น หากบอกว่าได้รับผลกระทบก็กระทบแน่นอน แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแต่ละครั้งไม่ใช่เดือดร้อนเฉพาะตัวเอง ครอบครัว และรัฐก็ต้องจ่ายเงินดูแลรักษาด้วย

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้ห้ามนำโอ่ง หรือถังน้ำขึ้นท้ายรถกระบะ สามารถนำขึ้นได้ตามปกติ แต่จะต้องไม่มีคนไปนั่ง หรือยืนอยู่ท้ายรถ หากพบจะต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับปรับแน่นอน โดยจะต้องนั่งรัดเข็มขัดนิรภัยอยู่ภายในห้องโดยสารเท่านั้น

ภาพและข่าวจาก มติชนออนไลน์

พิมพ์ อีเมล